บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : รายงานการพัฒนาชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ
และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค
การแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์(STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา
ผู้รายงาน : นางรินทร์จิรา ชัยพรธนาวัฒน์
การศึกษาครั้งนี้เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์(STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์(STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา และเพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์(STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเอี่ยมสุรีย์(อนุบาลเมืองสมุทรปราการ) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 โดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย 1 ห้องเรียน จำนวน 41 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์(STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ฉบับก่อนเรียนและฉบับหลังเรียน แต่ละฉบับเป็นแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือกจำนวน 20 ข้อ ชนิดเขียนตอบ 2 ข้อ คะแนนเต็ม 30 คะแนน และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แบบร่วมมือเทคนิคการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ร้อยละของค่าเฉลี่ยของคะแนนจากการทำแบบทดสอบย่อย 79.15 และร้อยละของค่าเฉลี่ยของคะแนนจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร หลังเรียน เป็น 78.78 ดังนั้น E1/E2 เป็น 79.15/78.78 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ที่ระดับนัยสำคัญ .01 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
3. ดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา มีค่าเท่ากับ 0.6245 ซึ่งแสดงว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น 0.6245 หรือคิดเป็นร้อยละ 62.45
4. ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แบบร่วมมือเทคนิคการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา พบว่าโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
สรุปได้ว่าการศึกษาครั้งนี้ ครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 สามารถนำชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ และหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยาไปใช้ได้ และสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนในเรื่องอื่นๆได้