ชื่อเรื่อง: รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านเป้า
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1
ผู้ประเมิน : นายมานพ มาสุข
ปีที่ประเมิน : 2559
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียน บ้านเป้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 ในรูปแบบจำลองซิปป์(CIPP Model) และเพื่อศึกษาแบบปฏิบัติที่ดี(Best Practice) ของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพสูงที่สุดของกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษากลุ่มโรงเรียนบ้านหลวง
กลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านเป้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 ในครั้งนี้ได้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ คือ ผู้บริหารโรงเรียนจำนวน 1 คน ข้าราชการครูจำนวน 7 คน พนักงานราชการจำนวน 1 คน ครูอัตราจ้างจำนวน 2 คน คณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 7 คน(ไม่นับรวมผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้แทนครู) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอจำนวน 2 คน ผู้ปกครองจำนวน 50 คน นักเรียนช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 50 คน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้นจำนวน 120 คน
2) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการหาแบบปฏิบัติที่ดี(Best Practice) ของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพสูงที่สุดของกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษากลุ่มโรงเรียนบ้านหลวงและเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทองจำนวน 2 โรงเรียน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหารโรงเรียนจำนวน 2 คน 2) ครูอนามัยโรงเรียนโรงเรียนละ 1 คน 3) ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 2 คน 4) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวน 2 คน 5) ประธานนักเรียนจำนวน 2 คน 6) ตัวแทนผู้ปกครองจำนวน 2 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) รวมจำนวนทั้งสิ้น 12 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมี 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 สำหรับ ผู้บริหาร ข้าราชการครู พนักงานราชการ ครูอัตราจ้างและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นผู้ตอบ ฉบับที่ 2 สำหรับนักเรียน ผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ตอบ ทั้งสองฉบับเป็นเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) กำหนดคำตอบข้อความ 5 ระดับซึ่งมีความเชื่อมั่น(Reliability) เท่ากับ 0.94 และ 0.98 ตามลำดับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for windows สถิติที่ใช้คือค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ด้านบริบท(Context) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่อยู่ในระดับมากที่สุด คือ วัตถุประสงค์สอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา น่าน เขต 1 รองลงมา คือ ผู้บริหารมีความชัดเจนในการดำเนินโครงการ ส่วนข้อที่ค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ กำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรก่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงาน
2. ด้านปัจจัยนำเข้า(Input) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ บุคลากรรู้วิธีการปฏิบัติกิจกรรมของโครงการ รองลงมาคือโรงเรียนมีสถานที่ประกอบการและรับประทานอาหารสะอาดถูกหลักอนามัย ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ การมอบหมายงานมีความเหมาะสม
3. ด้านกระบวนการ(Process) โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า อยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ประชุมวางแผนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินโครงการ รองลงมา คือ โรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
4. ด้านผลผลิต(Process) พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้เจ็บป่วย รองลงมาคือ การเผยแพร่ความรู้ข่าวสารเกี่ยวกับ โรคต่างๆ ที่มีตามฤดูอย่างทันท่วงทีและข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ การขาดเรียนของนักเรียนจากการเจ็บป่วยมีน้อยลง
5 แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาและผู้ปกครองที่มีต่อการบริการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือการฝึกให้เด็กรู้จักการแปรงฟันอย่างถูกวิธีหลังอาหาร รองลงมา คือการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง การล้างมือให้สะอาดก่อนหลังรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายแก่นักเรียน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือการให้ความรู้ในเรื่องการกินอาหารที่สุกใหม่ๆ สะอาดปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
6. การศึกษาแบบปฏิบัติที่ดี(Best Practice) ของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพสูงที่สุดของกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษากลุ่มโรงเรียนบ้านหลวง พบว่า ปัจจัยส่งเสริมต่อการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ คือ ภาวะผู้นำและความกระตือรือร้นของผู้บริหาร ความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและการทำงานเป็นทีมของผู้รับผิดชอบโครงการ การมีส่วนร่วมของชุมชนผู้ปกครองและนักเรียน การสนับสนุนและให้คำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้โครงการประสบผลสำเร็จและนำมาสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบในด้านการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี