โรงเรียนบ้านผึ้งวิทยาคมเป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความเสื่อมถอยของคุณธรรมจริยธรรมในสังคมปัจจุบัน ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น มาโรงเรียนสาย ไม่เข้าแถวเคารพธงชาติ หนีเรียน พูดจาไม่สุภาพ ขาดความมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ร่วมกิจกรรมของโรงเรียน แต่งกายไม่เรียบร้อย ทะเลาะวิวาท ไม่มีน้ำใจ ขาดความรับผิดชอบ ทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน ขีดเขียนโต๊ะเก้าอี้หรือเขียนข้อความไม่เหมาะสม ทางโรงเรียนโดยการนำของนายอภิเชษฐ์ สุนทรส ผู้อำนวยการโรงเรียน นายไกรวุฒิ พันธุ์พรหม รองผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครูจึงจัดทำนวัตกรรมที่เป็นแนวทางในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียน ที่เรียกว่า TPR Model ภายใต้แนวคิด ฝึกฝนเรียนรู้ ควบคู่ร่วมมือ ยึดถือผลสะท้อน ย้อนกลับเพื่อพัฒนา ประกอบด้วยหลักการอยู่ 3 ประการ ดังนี้
T (Training) คือ การฝึกทักษะเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียน เกิดการรู้จัก เข้าใจ รักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น สามารถวางแผนด้านการศึกษา อาชีพ สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขโดยใช้กระบวนการอภิปราย การอบรม การศึกษาดูงานนอกสถานที่ การให้ความรู้ การแนะนำ การให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง ในบริบทระดับห้องเรียน ระดับโรงเรียน และระดับชุมชน
P (Participation) คือ การให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในบริบทระดับห้องเรียน ระดับโรงเรียน และระดับชุมชน โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการอภิปราย ระดมสมองคิดวางแผนจัดเตรียมงาน จัดเตรียมสถานที่ วัดผลประเมินผล และการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีจิตสาธารณะ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น มีความสามัคคีในการทำงาน และรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
R (Reflection) คือ การให้นักเรียนได้สะท้อนผลหลังจากการร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในระดับห้องเรียน ระดับโรงเรียน และระดับชุมชน หลักการนี้เป็นหลักการที่สำคัญในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เพราะจะแสดงให้เห็นว่านักเรียนได้อะไรจากการเข้าร่วมกิจกรรม เกิดคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด โดยใช้วิธีการตอบแบบประเมินความพึงพอใจจากการเข้าร่วมกิจกรรม การสัมภาษณ์ การประเมินตนเอง
ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวมีจุดเด่นหรือลักษณะพิเศษของนวัตกรรมดังนี้
1) สามารถนำไปใช้ได้กับทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นบริบทระดับห้องเรียน ระดับโรงเรียน
และระดับชุมชน
2) สามารถใช้กับกลุ่มเป้าหมายในจำนวนมาก ๆ ได้
3) เป็นแนวทางส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแบบกว้าง ๆ ที่ครอบคลุมในหลาย ๆ ด้าน
ไม่จำเพาะเจาะจงด้านใดด้านหนึ่ง
4) สามารถนำไปปรับใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาในงานส่วนอื่นๆ ได้หลากหลาย