ความเป็นมาและแนวคิด
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นหลักการปฏิบัติของประชาชนให้ดำรงชีวิตอยู่บนทางสายกลาง ซึ่งในปัจจุบันนี้การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติได้ขยายวงกว้างสู่องค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดังกำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๘๓ (๑) และได้กำหนดเป็นกลยุทธ์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๔) (ประภาพร สุปัญญา. ๒๕๕๐ : ๓)
กระทรวงศึกษาธิการ (ถวัลย์ มาศจรัส. ๒๕๕๐ : ๑๐) ได้กำหนดและเริ่มนโยบายการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาในทุกระดับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาและเยาวชน โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตลอดจนถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นภาคีร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดนโยบายร่วมดำเนินการโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา นำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วยหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ประกอบด้วย พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ๒ เงื่อนไขคือเงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม ส่วนกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการใน ๓ ระดับคือ (๑) ระดับชาติ (๒) ระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและ(๓) ระดับปฏิบัติการ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการจัดการศึกษาบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมี ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานศึกษา และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรและสาระการเรียนรู้ในห้องเรียน และส่วนที่เรียนนอกห้องเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมนักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. ๒๕๕๐ : ๓) โดยมีขอบข่ายการขับเคลื่อนสู่สถานศึกษา ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านการบริหารจัดการ (๒) ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน (๓) ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และ (๔) ด้านพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา
สังคมได้คาดหวังว่าสถานศึกษาจะเป็นแหล่งที่หล่อหลอมและสร้างผู้เรียนให้มีความดี ความเก่ง และมีความสุข ท่ามกลางสังคมซึ่งกำลังประสบวิกฤตหลายๆ ด้านในปัจจุบัน ความคาดหวังดังกล่าวนั้น เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาซึ่งต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ประกอบกับได้รับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการให้ จัดการศึกษาโดยใช้ คุณธรรมนำความรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา (ความรู้คู่คุณธรรม) โดยมุ่งผลสมดุลและยั่งยืน (เศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม) ดังนั้นสถานศึกษาที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักการในการบริหารจัดการ และจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนย่อมสามารถตอบสนองต่อ ความต้องการของสังคม ตอบสนองต่อนโยบายทุกระดับ รวมทั้งสามารถผลิตผู้เรียนที่มีคุณลักษณะตรงตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช ๒๕๔๒ คือ ดี เก่ง และมีความสุขได้ และประการสำคัญที่สุดคือ ได้น้อมนำพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในสถานศึกษา
จากเหตุผลและความสำคัญดังกล่าว ผู้รายงานในฐานะผู้บริหาร พร้อมด้วยคณะครูและบุคลากรในโรงเรียน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาดังกล่าว จึงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่สถานศึกษาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน มีความมุ่งหวังในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในการบริหารจัดการ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในทุกภาคส่วน เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ส่งผลให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชนและผู้มีส่วนร่วม มีความตระหนัก ความเข้าใจ และสามารถนำหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความตระหนักและฝังรากลึกภายในตนเอง และผู้อื่นอย่างยั่งยืนตลอดไป
๒. วัตถุประสงค์
การบริหารสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้๒ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต๒ มีวัตถุประสงค์ดังนี้
๒.๑ เพื่อบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
๒.๒ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
๒.๓ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนนิคมสร้างตนนเองพัฒนาภาคใต้๒ ให้เป็นสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติกับผู้เรียน ครู ผู้ปกครองและชุมชน รวมทั้งสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล