ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้วิจัย จิตรา วุฒิศักดิ์
โรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพล เทศบาลเมืองทุ่งสง
อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) ออกแบบและพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 4) ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/4 โรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพล เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวนนักเรียน 45 คน ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (cluster random sampling) โดยมีห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) รูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 9 ชุด และแผนการจัดการเรียนรู้ 9 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น 0.83 3) แบบทดสอบวัดทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น 0.82 4) แบบประเมินจิตนิสัย 5) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน มีค่าความเชื่อมั่น ( ) 0.86 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสองค่าจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียว (t-test for Paired Samples) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่า
ตอนที่ 1 ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน พบว่า
1. สภาพปัจจุบัน นักเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทั้งในด้านการวิเคราะห์ความสำคัญ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ และการวิเคราะห์หลักการ ทั้งหมดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน การจัดการเรียนการสอนด้านการคิดและวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาไม่บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวัง การจัดการเรียนการสอนยังยึดครูเป็นศูนย์กลาง มุ่งสอนเนื้อหาวิชาเป็นหลัก ใช้เทคนิควิธีสอนที่ไม่ส่งเสริม ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการคิดคิดวิเคราะห์ ขาดการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ไม่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง ครูส่วนใหญ่ใช้การบรรยายเน้นความรู้ ความจำ ไม่เน้นการทดลอง ไม่ฝึกการคิดวิเคราะห์ตามทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เรียนวิทยาศาสตร์แบบท่องจำ ไม่มีเหตุผล เรียนแล้วก็ลืมง่าย ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
2. ความต้องการรูปแบบการเรียนการสอน สำหรับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ได้แก่ วิธีการจัดการเรียนการสอนคิดวิเคราะห์ที่มีประสิทธิผล แนวการสอนวิทยาศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น การพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการปฏิบัติจริงและเรียนรู้ทักษะตามลำดับขั้นตอน วิธีสอนที่เร้าความสนใจ เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสำคัญ การจัดการเรียนโดยครูผู้สอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ รูปแบบการสอนและสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้เรียน
ตอนที่ 2 ผลการออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน พบว่า รูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.01/84.71 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
ตอนที่ 3 ผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอน พบว่า นักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01
ตอนที่ 4 ผลการประเมินความพึงพอใจ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจิตนิสัย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.50