ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการบริหารและการจัดการเรียนการสอนตามหลักปรัชญา
ของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้กลยุทธ์การจัดการความรู้ของ โรงเรียนชุมชนวัดหนองค้อ
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
ผู้รายงาน : นายนุกูล โพธิ์เรียง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนชุมชนวัดหนองค้อ
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
คำสำคัญ : ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, การจัดการความรู้, การประเมินโครงการ
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ
1. เพื่อรายงานผลการประเมินโครงการบริหารและการจัดการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้กลยุทธ์การจัดการความรู้ของโรงเรียนชุมชนวัดหนองค้อ
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี โดยใช้รูปแบบประเมินจำลองของซิปป์ (CIPP Model)
2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจในผลของโครงการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนชุมชนวัดหนองค้อ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ปีการศึกษา 2559 ได้แก่ ผู้บริหาร 4 คน ข้าราชการครูผู้สอนจำนวน 61 คน พนักงานจ้างตามภารกิจ จำนวน 28 คน รวมทั้งสิ้น 93 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม
แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
ผลการประเมินโครงการพบว่าด้านบริบทในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในประเด็น ผู้ร่วมจัดทำโครงการทำงานร่วมกันได้อย่างกัลยาณมิตรที่พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดการความรู้ ตระหนักในความสำคัญของการปลูกฝังหลักการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ดำเนินโครงการทุกฝ่ายมีส่วนร่วมวางแผนการนิเทศติดตามอย่างเป็นระบบ ผู้ร่วมดำเนินโครงการพร้อมให้ความร่วมมือในการจัดการความรู้ที่ใช้จัดกิจกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านปัจจัยนำเข้ามีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก โดยผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในประเด็น ผู้บริหารมีความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมการจัดการความรู้เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ มีภาวะผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โรงเรียนมีความสัมพันธ์ อันดีกับท้องถิ่นและชุมชน และมีแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในและนอกโรงเรียนที่หลากหลายด้านกระบวนการมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ให้ข้อมูล มีความคิดเห็นสอดคล้องกัน ในประเด็น การที่ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบด้านการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกิจกรรมการจัดการความรู้เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการ มีการสรุปประชาสัมพันธ์ ผลการจัดกิจกรรมโครงการต่อผู้ปกครอง ชุมชนและหน่วยงานต้นสังกัด มีการนิเทศ กำกับติดตาม เพื่อหาแนวทางปรับปรุงวิธีการดำเนินการโครงการอย่างเป็นระบบวัดผลประเมินผลการจัดการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร จัดกิจกรรมการเรียนการสอนมีการบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ด้านผลผลิตมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในประเด็นเรื่องของโรงเรียนได้รับรางวัล ยกย่องเชิดชูเกียรติในด้านการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ปกครองมีความพึงพอใจในคุณลักษณะนิสัยของนักเรียน ทำให้มีผู้สนใจมาศึกษาดูงานขั้นตอนวิธีการจัดทำโครงการ ชุมชน ผู้ปกครอง นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน และสถานศึกษามีการจัดการความรู้ในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นระบบ ผลการประเมินความพึงพอใจพบว่า โดยภาพรวมผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด และเมื่อจำแนกรายด้านพบว่าด้านคุณลักษณะนิสัยตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน มีผลความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจในประเด็น นักเรียนมีความสุข รักครอบครัวชุมชน รักและเคารพสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ความเคารพบิดามารดา ครู ญาติผู้ใหญ่ นักเรียนเต็มใจช่วยเหลืองานในครอบครัวโดยไม่ดูดาย เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและชุมชนไม่เรียกร้องอยากได้ในสิ่งของที่ผู้ปกครองได้พิจารณาแล้วว่าไม่มีประโยชน์ นักเรียนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นดี ด้านความรู้ความสามารถของนักเรียนตามหลักสูตรมีผลความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดโดยผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจในประเด็น นักเรียนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการแสวงหาความรู้ ชอบมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนทุกวัน มีนิสัยรักการอ่านและค้นคว้า สามารถอ่านหนังสือได้เหมาะสมตามระดับชั้น นักเรียนยังได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันทักษะในวิชาต่างๆ และสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาตามที่ต้องการได้ ด้านผลสำเร็จของโครงการมีผลความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจในประเด็นผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการปลูกฝังนิสัยแห่งความพอเพียงให้นักเรียนมีความมั่นใจในคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน สถานศึกษาได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติในเรื่องต่างๆอยู่เสมอ นักเรียนได้รับความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และนักเรียนร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข