หัวข้อการศึกษา การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีการสอนแบบพหุปัญญา
ผู้ทรงคุณวุฒิ ผศ.ดร.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร
ชื่อผู้วิจัย นางสาวสุนทรี เหลืองอ่อน
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีสอนแบบพหุปัญญา (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีสอนแบบพหุปัญญา
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนนครนนท์วิทยา 3 วัดนครอินทร์ จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 32 คน ได้มาด้วยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย (1) เครื่องมือที่ใช้ ในการทดลอง ได้แก่ หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ จำนวน 6 เรื่อง แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง คำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ โดยใช้วิธีสอนแบบพหุปัญญา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 6 แผน ใช้เวลาสอน 12 ชั่วโมง (2) เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นแบบปรนัย 3 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากง่าย (P) อยู่ระหว่าง 0.62 - 0.75 ค่าอำนาจจำแนก (r) อยู่ระหว่าง 0.25 - 0.43 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.782 และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ และวิธีสอนแบบพหุปัญญา จำนวน 20 ข้อ ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.826 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) และการทดสอบค่าทีแบบไม่เป็นอิสระต่อกัน (t-test dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 85.20/85.10 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนโดยใช้วิธีสอนแบบพหุปัญญาสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีสอนแบบพหุปัญญา โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.54, S.D. = 70) โดยนักเรียนมีความพึงพอใจด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.58, S.D. = 69) และมีความพึงพอใจด้านวิธีสอนแบบพหุปัญญา อยู่ในระดับมากที่สุด คือ ( = 4.50, S.D. = 72)
บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบยั่งยืน เพราะการศึกษาเป็นการพัฒนาความรู้ ความคิด สติปัญญา รวมทั้งค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ให้เป็นคนที่ความสามารถในการคิดการปรับตัว และแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับชีวิต เป็นพื้นฐานหลักในการตัดสินใจแสดงพฤติกรรมอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคมและประเทศชาติ และภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีต เป็นหลักฐานสำคัญ ในการศึกษาความเป็นมาของชาติไทย เป็นเครื่องมือในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ความคิด ความรู้สึกจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่งเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ ทุกคนภาคภูมิใจ เป็นทักษะพื้นฐานที่ใช้แสวงหาความรู้จากนานาวิทยาการ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นและยังเป็นเครื่องมือประสานสัมพันธ์ให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมและประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงดำรัสไว้ (บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, 2523 อ้างถึงในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวง ศึกษาธิการ, 2551: 1) ความว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ได้กำหนดสาระมาตรฐานและตัวบ่งชี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนตามทักษะการอ่าน การเขียน การฟัง การดูและการพูด ด้านสาระการอ่าน มาตรฐานที่ 1.1 ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิด เพื่อนำ ไปใช้ตัดสินใจแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและมีนิสัยรักการอ่าน ส่วนตัวชี้วัดของการอ่านสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คือ ผู้เรียนสามารถอ่านออกเสียงคำ คำคล้องจอง ข้อความสั้น ๆ และเข้าใจความหมายของคำพื้นฐานภาษาไทย ตามบัญชีคำที่ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551: 6-7) ซึ่งสอดคล้องกับ สุนันท์ อัญชลีนุกูล (2546: 13) กล่าวถึง คำในภาษาไทยว่า มีทั้งคำพยางค์เดียวและคำหลายพยางค์ คำพยางค์เดียวส่วนมาก เป็นคำพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น คำเกี่ยวกับธรรมชาติ คำเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย คำเกี่ยวกับสัตว์ คำเกี่ยวกับเครือญาติ คำเกี่ยวกับพืช ผลไม้ คำเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย โดยทั่วไป มีเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ การให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการฟัง พูด อ่านและเขียนให้ถูกต้อง เน้นการฝึกทักษะทั้ง 4 ให้สัมพันธ์กัน ทักษะที่ผู้เรียนควรได้รับการส่งเสริมและฝึกฝนเป็น ภาษาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาไว้การมีภาษาของตนเองใช้ในกิจการของตน ทำให้คนในชาติสำนึกว่าแต่ละคนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชาติตน นอกจากนั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันให้สะดวกทั้งชาติภาษาไทยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ถ้าขาดไปก็เหมือนกับ การสูญเสียเอกราชเสียความเป็นชาติไป และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 เล็งเห็นความสำคัญของการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา ดังนั้นการคิดจึงเป็นทักษะที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ ดังนั้น อันดับแรก คือ การอ่าน โดยถือว่าการอ่านเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักใช้กระบวนการคิด อันเป็นทางนำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านการฟัง การพูด การเขียน และใช้หลักภาษาได้เป็นอย่างดี (บันลือ พฤกษะวัน, 2534: 107) กล่าวว่า การอ่าน ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นมากในการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เพราะวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงและเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสังคมข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ต้องอาศัยการอ่านจึงจะสามารถเข้าใจและสื่อความหมายกันได้ถูกต้อง แม้จะมีการนําเทคโนโลยีมาใช้ในการติดต่อสื่อสาร แต่ไม่สามารถทดแทนการอ่านได้ ครูผู้สอนจึงควรฝึกทักษะการอ่านให้แก่ผู้เรียนระดับประถมศึกษาให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ฉวีวรรณ คูหาภินันท์ 2542 : 3 ; วรรณี โสมประยูร 2553 : 127, 254) กล่าวว่า หัวใจของการอ่าน คือ การเข้าใจความหมายของคำที่ปรากฏในรูปอักษรต่าง ๆ มีทักษะในด้านการรู้จักคำ อ่านออกเสียงได้ ตรงกับคำที่อ่านและเข้าใจความหมายของคำ เป็นทักษะเบื้องต้นในการอ่านทุกชนิดและทุกระดับ ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและสามารถเข้าใจความหมายจากคำที่อ่านได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ของ ประเทิน มหาขันธ์ (2523 : 17) กล่าวว่า การอ่าน หมายถึง กระบวนการในการแปลความหมายของตัวอักษรที่มีการจดบันทึกไว้ กระบวนการอ่านเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน จึงขึ้นอยู่กับการกระตุ้นให้เกิดความคิดรวบยอด หรือจินตนาการของผู้อ่าน การเข้าใจความหมายของตัวอักษร การอ่านจึงเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วย การแปลความตอบสนอง การกำหนดความมุ่งหมาย การจัดลำดับภาพของอักษรที่ผู้อ่านได้เห็น จะกระตุ้นการทำงานของสมอง ซึ่งขึ้นอยู่กับภาพ และปริมาณของประสบการณ์ที่ผู้อ่านมีมาก่อน สอดคล้องกับแม้นมาส ชวลิต (2534 : 232) กล่าวว่า ความหมายของการอ่าน หมายถึง การใช้ศักยภาพของสมองรับรู้ แปลความหมายและเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏในข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึก จินตนาการ ตลอดจนสาระอื่น ๆ ซึ่งใช้สัญลักษณ์ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการสื่อสาร
ส่วนสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2549 : 6-7) ได้กล่าวว่า แนวการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย โดยสามารถดำเนินการสอนได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้ ขั้นที่ 1 อ่านเป็นคำ และให้นักเรียนรู้ความหมายของคำที่อ่าน ขั้นที่ 2 อ่านข้อความประโยคสั้น ๆ ทำให้ได้ข้อความที่มีความหมายสมบูรณ์และให้สัมพันธ์กับภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ขั้นที่ 3 อ่านแจกลูกสะกดคำ ขั้นที่ 4 สร้างคำใหม่จากประสบการณ์อ่าน ขั้นที่ 5 แต่งประโยคจาก คำพื้นฐานภาษาไทย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และเข้าใจความหมายของคำ หรือประโยค และเรื่องราวที่อ่านได้ดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของ สําสี รักสุทธี (2553 : 31) และวรรณี โสมประยูร (2553 : 139) กล่าวว่า ปัจจัยหนุนที่ส่งเสริมให้นักเรียนในวัยเริ่มเรียนอ่านออก ปัจจัยที่ 1 ให้นักเรียนอ่านออกเสียงดัง และเต็มเสียง เพื่อจะได้ฟังการอ่านออกเสียงว่าถูกต้อง ชัดเจนหรือไม่เพียงใด ผู้ฝึกจะได้แก้ไขให้ถูกต้องได้ การอ่านออกเสียงจะทำให้นักเรียนเกิดทักษะการอ่าน และการอ่านออกเสียงของผู้ใหญ่ ทำให้เด็กอ่านออกเสียงตามไปด้วย เป็นการช่วยฝึกให้เด็ก จำพยัญชนะ สระและคำได้ดี ปัจจัยที่ 2 ให้นักเรียนอ่านคำคล้องจอง โดยธรรมชาติของนักเรียนวัยนี้จะชอบในเรื่องของจังหวะและความไพเราะ นักเรียนจะมีความสุขที่ได้ทำเสียง หรือทำท่าทางให้เข้ากับจังหวะ หรือได้ฟังคำที่เป็นจังหวะ ประโยชน์ที่ได้จากการอ่านคำคล้องจอง เป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของนักเรียนช่วยให้นักเรียนจำ และใช้ภาษาได้ดี ใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องชัดเจน ทำให้นักเรียนเข้าใจคำศัพท์หรือคำที่ครูต้องการเน้นมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กได้อ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ พรทิพย์ ชาตะรัตน์ (2545 : 59) ยังได้กล่าวถึง ความสำคัญของการอ่านว่า การอ่านเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการแสวงหา ผู้ที่มีความสามารถในการอ่าน คือ อ่านได้มาก อ่านได้เร็วและอ่านได้ถูกต้อง ย่อมมีโอกาสในชีวิตหลาย ๆ ด้านมากกว่า เช่น ด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น ตลอดจนสามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็ว และทันสมัยกว่าผู้ที่ขาดทักษะในการอ่าน นอกจากทักษะการอ่านที่มีความสำคัญแล้ว การเขียนก็นับว่าเป็นอีกทักษะหนึ่ง ที่มีความสำคัญดังที่ วรรณี โสมประยูร (2542 : 18) ได้กล่าวว่า การเขียนเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และความต้องการของบุคคลออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจ และเป็นเครื่องมือพัฒนาสติปัญญาของบุคคล นอกจากนี้ ผดุง อารยะวิญญู (2544 : 24) ยังกล่าวว่า การเขียนเป็นทักษะสูงที่สุดในกระบวนการทางภาษา ซึ่งจะเห็นว่า การเขียนมีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนเราและการเขียนที่จะประสบผลดี คือ ต้องอาศัยองค์ประกอบด้านต่าง ๆ เช่น การสะกดคำให้ถูกต้อง การเว้นวรรคถูกต้อง และการเกิดทักษะการเขียนที่ดียังต้องอาศัยเวลาพอสมควร
ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของทักษะทางภาษาที่มีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน จึงกำหนดการอ่าน และการเขียนไว้ในหลักสูตรประถมศึกษาฉบับต่าง ๆ ต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ได้กำหนดให้ทักษะการอ่าน และทักษะการเขียนไว้ เป็นสมรรถนะสำคัญ ที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นกับนักเรียน คือ ความสามารถในการสื่อสาร ทั้งในการรับสารหรือส่งสาร มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษา การถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกและทัศนะของตนเองและสังคม รวมทั้งกำหนดเป็นมาตรฐานและตัวชี้วัด ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ด้านการอ่านสะกดคำ ในสาระที่ 1 มาตรฐาน ท 1.1 ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิด เพื่อนำไปใช้ตัดสินแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและมีนิสัยรักการอ่าน ตัวชี้วัดที่ 1 อ่านออกเสียงคำ คำคล้องจองและข้อความสั้น ๆ ด้านการเขียนสะกดคำในสาระที่ 4 มาตรฐาน ท 4.1 : เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ ตัวชี้วัดที่ 2 เขียนสะกดคำ และบอกความหมายของคำ (กระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ 2551 : 37-48)
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่า การแก้ปัญหานี้ อาจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเมื่อดูจากผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 แม้จำนวนเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จะลดลง แต่ก็ยังทำไม่ได้ 100% โดยผลสำรวจนักเรียนชั้น ป.1 ครั้งที่ 1 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 พบว่า มีนักเรียนอ่านไม่ออกร้อยละ 11.5 เขียนไม่ได้ร้อยละ 8.7 การสำรวจครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 นักเรียนอ่านไม่ออกได้ลดลงเหลือร้อยละ 5.6 และเขียนไม่ได้เหลือร้อยละ 5.0 นักเรียนชั้น ป.2 การประเมินครั้งที่ 1 อ่านไม่ออกร้อยละ 8.2 เขียนไม่ได้ร้อยละ 11.2 ประเมินครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่ออกร้อยละ 5.0 เขียนไม่ได้ร้อยละ 7.0 ชั้น ป.3 ครั้งที่ 1 อ่านไม่ออกร้อยละ 5.0 เขียนไม่ได้ร้อยละ 7.6 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่ออกร้อยละ 2.8 เขียนไม่ได้ร้อยละ 5.3 ชั้น ป.4 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 4.4 เขียนไม่คล่องร้อยละ 11.3 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่คล่องร้อยละ 2.5 เขียนไม่คล่องร้อยละ 8.1 ชั้น ป.5 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 3.5 เขียนไม่คล่องร้อยละ 9.7 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่คล่องร้อยละ 1.9 เขียนไม่คล่องร้อยละ 6.6 และชั้น ป.6 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 2.6 เขียนไม่คล่องร้อยละ 7.0 ครั้งที่ 2 อ่านไม่คล่องร้อยละ 1.4 และเขียนไม่คล่องร้อยละ 4.7
ซึ่งคำกล่าวของ บันลือ พฤกษะวัน (2542 : 26) กล่าวว่า นักเรียนส่วนใหญ่มักจะเขียนหนังสือไม่ถูกต้อง ทั้งการสะกดคำ การใช้การันต์ การใช้หลักภาษา ทั้งนี้ เพราะเขาไม่สามารถอ่านสะกดคำได้ถูกต้องตามเจตนาของเขา การอ่านไม่ถูกต้อง ซึ่งมาจากนักเรียนจำรูปสระของภาษาไทยไม่ได้ จึงทำให้นักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก อ่านไม่คล่อง เนื่องจากนักเรียนยังไม่ได้รับการฝึกความพร้อมทางด้านการพูด และการฟังภาษาไทย ทั้งยังไม่เน้นการฝึกทักษะด้านการอ่านในระดับปฐมวัย เมื่อนักเรียนเข้ามาเรียนในระดับช่วงชั้นที่ 1 คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 3 ทำให้เกิดปัญหาในทักษะภาษาด้านการอ่านหนังสือยังไม่ออก อ่านไม่คล่อง สอดคล้องกับ (กรมวิชาการ, 2545 ก: 22) กล่าวว่า การอ่าน นับว่าเป็นปัญหาในการจัดการเรียนการสอนมาก เนื่องจากเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในโรงเรียนนครนนทวิทยา 3 วัดนครอินทร์ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งผู้วิจัยรับผิดชอบเป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย นักเรียนมีผลการเรียนในสาระที่ 1 การอ่าน อยู่ในระดับต่ำ จึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ย 68.5 ไม่เป็นดังเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ คือ ร้อยละ 75 เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่เห็นว่า วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่น่าเบื่อ ยุ่งยากที่ต้องท่องจำ มีหลักการใช้ภาษาที่ยาก หลากหลายรูปแบบและการเรียนยังต้องใช้วิธีการจำ เป็นเรื่อง ๆ ใช้หลักการที่ไม่แน่นอนตายตัว ทั้งหมดนี้ เป็นเหตุมาจากผู้เรียนขาดการฝึกทักษะพื้นฐานด้านการอ่านที่ถูกต้อง ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาสภาพปัญหา ในการจัดเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อนำมาหาวิธีการช่วยลดปัญหาดังกล่าว โดยได้ทำการศึกษาแหล่งข้อมูลทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหา โดยมีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาความสามารถในการอ่านให้เกิดแก่ผู้เรียน โดยศึกษาประสิทธิภาพของสื่อการเรียนรู้ ศึกษาเทคนิควิธีสอนและศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
การพัฒนาทักษะภาษาด้วยการบูรณาการทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียน ผู้เรียนควรจะเรียนภาษาจากหนังสือนิทาน หรือหนังสือภาพประกอบ ซึ่ง Puerzer (1995 ; อ้างถึงใน กิดานันท์ มะลิทอง, 2548 : 45) กล่าวว่า ภาพ คือ ตัวแทนทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถรับรู้ด้วยการมองเห็น จากความเชื่อที่ว่าภาพ 1 ภาพ สามารถสื่อสารได้ดีกว่าคำอธิบายนับพันคำ และไม่ว่าผู้เรียนจะเป็นวัยใดก็ตาม การใช้ข้อความพร้อมภาพ จะทําให้สามารถเข้าใจในเนื้อหานั้นได้ง่ายที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2539 : 2425) กล่าวว่า สื่อการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย นักเรียนจะสามารถรับรู้ได้ดีที่สุด เมื่อได้รับฟังคำอธิบาย หรือได้เห็นวัสดุของจริงที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อม หรือการใช้สิ่งทดแทนของจริง ที่เป็นรูปภาพ และการสื่อสารในชีวิตประจำวัน การรับรู้ของนักเรียนจะชัดเจนสมบรูณ์ยิ่งขึ้น เมื่อสิ่งที่เรียนใหม่มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์เดิม Edward L. Thorndike (อ้างถึงใน ทิศนา แขมมณี 2552 : 50-52) กล่าวถึง หลักการและทฤษฏีสัมพันธ์เชื่อมโยงการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ โดยการสร้างสิ่งเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยเริ่มให้นักเรียนได้อ่านคล้องจองจากหนังสือภาพที่มีสีสัน สวยงาม และเมื่อเปิดหนังสือออกจะมีภาพ ให้เห็นเป็นการสร้างสิ่งเร้าให้ผู้อ่านอยากรู้อยากเห็น และมีการตอบสนองโดยการอ่านคำคล้องจอง ซึ่งสอดคล้องกับ Lewis (2001 ; อ้างถึงใน วิมลิน มีศิริ, 2551 : 8) ที่กล่าวว่า เมื่อเราอ่านหนังสือภาพ สายตาของเราก็จะจ้องมองทั้งภาพและคำสลับกันไปมา เพื่อมุ่งนำความหมายของทั้งคำและภาพมารวมกัน นำไปสู่การก่อเกิดเป็นความหมายของเนื้อเรื่อง ซึ่งสมพร จารุนัฏ (2541 : 12-21) ได้กล่าวว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน อายุ 67 ปี เป็นหนังสือที่มีประโยคสั้น ๆ ไม่กี่ประโยค มีลักษณะเป็นคำคล้องจอง จะทำให้เด็กเห็นได้ชัดเจน ภาพจะมีขนาดใหญ่ และสอดคล้องกับตัวอักษรที่ปรากฏ แนวคิดหลักของเรื่องที่มีคุณภาพ ประโยคเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับวัยเริ่มเรียน สอดคล้องกับแนวคิดของถวัลย์ มาศจรัส (2538 : 17-18) ที่กล่าวว่า เด็กในช่วงอายุ 67 ปี นั้น จะสนใจหนังสือที่เป็นภาพเกี่ยวกับธรรมชาติเป็นเรื่องสั้น ๆ ที่มีรูปภาพประกอบ การที่นำเรื่องที่เด็กชอบมาให้เด็กเรียน จะช่วยดึงดูดความสนใจในการอ่านของเด็ก ทำให้เด็กมีความรู้กว้างขวาง เกิดจินตนาการ ฉลาดรอบรู้และมีเชาวน์ปัญญามีไหวพริบดี ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านสติปัญญา สังคมและส่งเสริมให้เด็กมีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ถ้าหากไม่มีทักษะการฝึกฝนด้วยวิธีการอ่านที่เหมาะสมแล้วจะพัฒนาความสามารถด้านทักษะการอ่านของนักเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในการแก้ ปัญหาการอ่านของนักเรียนสามารถแก้ได้หลากหลายวิธี ได้แก่ การจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD การจัดกิจกรรมแบบอุปนัยกับแบบนิรนัย การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา ฯลฯ ซึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยทฤษฎีพหุปัญญาเป็นวิธีหนึ่งที่มุ่งพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ ทางปัญญาของมนุษย์ ดังที่ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (อ้างถึงในวนิษา เรซ, 2550 : 8-20) ผู้คิดค้นทฤษฎีพหุปัญญา กล่าวไว้ว่า มนุษย์เรามีอัจฉริยภาพ หรือความฉลาดอย่างน้อยแปดด้านและในคนหนึ่งคนก็จะมีครบทั้ง 8 ด้าน ดังนี้ (1) ด้านภาษาและการสื่อสาร (2) ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (3) ด้านมิติสัมพันธ์ (4) ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (5) ด้านดนตรี (6) ด้านเข้าใจผู้อื่นและมนุษย์สัมพันธ์ (7) ด้านการเข้าใจตนเอง (8) ด้านธรรมชาติ เพียงแต่ว่าจะมีบางด้านที่เด่นกว่าด้านอื่น ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับกายภาพของคนและสภาพแวดล้อมของการฝึกฝนที่ได้รับมาตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งทฤษฎีพหุปัญญาแนะนำว่า ไม่มียุทธวิธีการสอนชุดใดที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคน เพราะเด็กแต่ละคนนั้นจะมีความสามารถ ความฉลาดและความชอบแตกต่างกัน ยุทธวิธีการสอน ที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับเด็กอีกกลุ่ม เช่น ถ้าผู้สอนสอนโดยใช้เพลง ดนตรีและจังหวะ วิธีสอนนี้ เด็กที่ฉลาดด้านดนตรีจะสนใจเป็นพิเศษ แต่เด็กที่ไม่ถนัดดนตรีอาจไม่สนใจเลย หรือการสอนโดยใช้ภาพ ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับเด็กที่ฉลาดด้านมิติ แต่เด็กที่ฉลาดด้านภาษาจะไม่สนใจ เพราะว่าเด็กมีความแตกต่างกันมาก ผู้สอนจึงควรใช้ยุทธวิธีการสอนหลายวิธี ถ้าผู้สอนสอนโดยวิธี ทั้ง 9 ด้านในวันหนึ่ง ๆ เด็กแต่ละคนจะได้รับในสิ่งที่ตรงกับความถนัดของตน (อารี สัณหฉวี, 2542 : 64) กล่าวว่า เพราะความสามารถความเก่งของมนุษย์นั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะต้องอาศัยกระบวนการทางปัญญา ซึ่งผู้สอนจะต้องฝึกทักษะต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นแก่นักเรียน ด้วยการนำกระบวนการทางปัญญาไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนควรศึกษารายละเอียดของแต่ละขั้นตอนให้เข้าใจลึกซึ้ง และลงมือปฏิบัติจนเกิดความชำนาญแล้ว จึงจะนำไปประยุกต์ หรือปรับใช้กับนักเรียนอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น เนื้อหา กิจกรรม จุดประสงค์การเรียนรู้ วัดความพร้อมของนักเรียน เป็นต้น ในด้านการศึกษานั้น ผู้สอนต้องพยายามค้นหาความเก่งของนักเรียน ตลอดจนหาวิธีการที่ส่งเสริมพัฒนานักเรียนให้เก่งหลาย ๆ ด้าน (วิมลรัตน์ สุนทรโรจน์, 2545 : 4-15) ดังนั้นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีพหุปัญญาจึงเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ตอบสนองความแตกต่างของนักเรียนได้ดี ส่งผลให้นักเรียนมี พัฒนาการด้านภาษาที่สอดคล้องกับพหุปัญญาด้านอื่น ๆ สามารถพัฒนาการคิดเชิงเหตุผลของนักเรียนได้ดียิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของประยูร ยืนยิ่ง (2552 : 85) ได้วิจัยเรื่อง ผลการจัดกิจกรรมการเรียนภาษาไทย เรื่อง การอ่านและการเขียนคำที่มีสระประสม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 65.95 เมื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญาทั้ง 8 ด้าน ครบ 9 แผนแล้วนักเรียนสามารถอ่านและเขียนคำที่มีสระประสมได้เต็มตามศักยภาพ โดยอ่านออกเสียงได้ถูกต้องชัดเจนและเขียนคำถูกต้องได้ตามความหมาย
จากการศึกษาสภาพปัญหา แนวคิด ทฤษฎีและเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหนังสือส่งเสริมการอ่านและทฤษฎีพหุปัญญาแล้ว ทำให้นักเรียนพัฒนาทักษะการเรียนการสอนด้านการอ่านได้ดีขึ้น เป็นยุทธวิธีที่ใช้แนวคิดและวิธีการที่เป็นขั้นตอน การจัดการเรียนรู้โดยใช้พหุปัญญาเป็นการตอบ สนองความต้องการที่หลากหลายตามความสามารถและความถนัดของนักเรียน เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และนักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนวิชาภาษาไทย ผู้วิจัยจึงสนใจจัดทำนวัตกรรมในการอ่านคำคล้องจอง เนื่องจากการอ่านคำคล้องจองทำให้เกิดความสนุกสนาน มีความสุขในการเรียน เพราะคำคล้องจองมีความไพเราะ นักเรียนจะมีความสุขที่ได้ทำเสียง หรือท่าทางให้เข้ากับจังหวะ หรือได้ฟังคำที่เป็นจังหวะ ประโยชน์ที่ได้จากการอ่านคำคล้องจองเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของนักเรียนช่วยให้นักเรียนจำและใช้ภาษาได้ดี ใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องชัดเจน ทำให้นักเรียนเข้าใจคำศัพท์ หรือคำที่ครูต้องการเน้นมากขึ้น และเป็นการฝึกสมาธิ ทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและมีสติปัญญาสูงขึ้น และเป็นหนทางหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านได้และอ่านได้คล่องแคล่ว ผู้วิจัยจึงนำหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจองและแนวคิดของทฤษฎีพหุปัญญามาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีการสอนแบบพหุปัญญา ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านและแก้ปัญหานักเรียนที่มีปัญหาด้านทักษะการอ่านและการเขียนให้มีการพัฒนาทางด้านภาษาดีขึ้น
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีสอนแบบพหุปัญญา
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีสอนแบบพหุปัญญา
สมมติฐานการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ มีสมมติฐานเกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังต่อไปนี้
1. หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนโดยใช้วิธีสอนแบบพหุปัญญาสูงกว่าก่อนเรียน
ขอบเขตการวิจัย
1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1.1 ประชากร ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนนทบุรี จำนวน 5โรงเรียนจำนวนนักเรียนทั้งหมด 220 คน
1.2 กลุ่มตัวอย่าง
1.2.1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการพัฒนานวัตกรรม คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 สังกัดเทศบาลนครนนทบุรี ได้แก่ โรงเรียนนครนนท์วิทยา 1 วัดท้ายเมือง จำนวน 3 คน ในขั้นทดสอบแบบหนึ่งต่อหนึ่ง โรงเรียนนครนนท์วิทยา 2 วัดทินกรนิมิต จำนวน 9 คน ในขั้นทดสอบแบบกลุ่มเล็ก และโรงเรียนนครนนท์วิทยา 5 ทานสัมฤทธิ์ จำนวน 30 คน ในขั้นทดลองภาคสนาม ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม
1.2.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ทดลองนวัตกรรม คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนนครนนท์วิทยา 3 วัดนครอินทร์ จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 32 คน ได้มาด้วยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม
2. ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรที่ศึกษา ในการวิจัยครั้งนี้
2.1 ตัวแปรต้น ได้แก่ หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ และวิธีสอนแบบพหุปัญญา
2.2 ตัวแปรตาม ได้แก่
2.2.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ 2.2.2 ความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ และวิธีสอนแบบพหุปัญญา
3. เนื้อหา
เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ เป็นเนื้อหาสาระในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย หน่วยการเรียนรู้ที่ 12 เรื่อง คำคล้องจอง เป็นคำพื้นฐานภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตามหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนนครนนท์วิทยา 3 วัดนครอินทร์ โดยนำคำพื้นฐานภาษาไทยที่ได้มาจากบัญชีคำที่สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ โดยจัดทำเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุดภาษาสร้างสรรค์ ประกอบด้วยหนังสือจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 ต่อปากต่อคำ เรื่องที่ 2 ลำนำพาที เรื่องที่ 3 วจีไพเราะ เรื่องที่ 4 หรรษาคล้องจอง เรื่องที่ 5 ร้องเล่นคำสนุก เรื่องที่ 6 ปลุกเชาว์ปัญญา
4. ระยะเวลา
ใช้เวลาดำเนินการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีการสอนแบบพหุปัญญา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โดยใช้เวลาทดลอง จำนวน 3 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง รวมใช้เวลาทดลองจำนวน 12 ชั่วโมง
นิยามศัพท์เฉพาะ
หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ หมายถึง หนังสือที่จัดทำขึ้น โดยมีเนื้อหาสาระเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร มุ่งให้นักเรียนสามารถอ่าน และเข้าใจความหมายของคำคล้องจอง ซึ่งเป็นคำพื้นฐานภาษาไทยที่นักเรียนสามารถเลือกอ่านและเขียนได้ตามวัย และตามความสนใจ
ประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง หมายถึง คุณภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นไปทดลองใช้และปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
80 ตัวแรก หมายถึง ประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) คิดเป็นร้อยละของคะแนนรวมเฉลี่ยของนักเรียนที่ได้จากการทำแบบฝึกหัดและแบบประเมินรายย่อยของหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจองรวม 6 ชุด คิดเป็นร้อยละแต่ละชุดระหว่างเรียน
80 ตัวหลัง หมายถึง ประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) คิดเป็นร้อยละของคะแนนเฉลี่ยจากการทำแบบประเมินหลังเรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจองรวม 6 เรื่อง
เกณฑ์การทดสอบประสิทธิภาพที่ยอมรับได้ เท่ากับเกณฑ์ที่กำหนด ค่าเฉลี่ยของ E1/ E2
จะต้องไม่เกิน 2.5 %
ความสามารถในการอ่านคำคล้องจอง หมายถึง ผลการเรียนรู้ของนักเรียนในการอ่านคำคล้องจองที่วัดได้จากคะแนนความสามารถในการอ่านและเข้าใจความหมายของคำคล้องจองของนักเรียนที่ได้ จากการทดสอบในการอ่านและเข้าใจความหมายได้ตรงกับคำคล้องจองที่อ่าน มีลักษณะการประเมินผลดังนี้
1. การอ่านออก หมายถึง นักเรียนสามารถอ่านออกเสียงคำคล้องจองที่กำหนดและอ่านถูกต้องได้คำละ 1 คะแนน อ่านผิด 0 คะแนน
2. การเข้าใจความหมาย หมายถึง นักเรียนสามารถเข้าใจความหมายของคำคล้องจอง ที่กำหนด และตอบคำถามถูกต้อง ได้ 1 คะแนน ตอบผิด 0 คะแนน
กิจกรรมการจัดการเรียนรู้โดยวิธีสอนแบบพหุปัญญา หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา ประกอบด้วยกิจกรรมที่ส่งเสริม พหุปัญญาของนักเรียน 8 ด้าน ดังนี้
1. ด้านภาษาและการสื่อสาร ได้แก่ การอ่านจับใจความสำคัญจากสิ่งที่กำหนดให้ การเลือกคำมาใช้ในแต่งประโยคสื่อสาร การเขียนบรรยายลำดับเรื่อง การเขียนตามจินตนาการ การท่องจำ บทร้อยกรองที่ไพเราะ และการพูดตอบคำถามด้วยความมั่นใจ
2. ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ ได้แก่ การวิเคราะห์เรื่อง การใช้เหตุผลในการเขียนบรรยายอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์ความรู้จากบทเรียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
3. ด้านมิติสัมพันธ์ ได้แก่ การออกแบบผลงานศิลปะด้วยการวาดภาพระบายสี และการเขียนแผนภาพความคิดจากเรื่องที่ได้อ่าน ฟังและดู
4. ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ได้แก่ การร่วมกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เช่น การปรบมือ การรำวง การเต้นประกอบเพลง การแสดงท่าทางตามคำบอก การแสดงบทบาทสมมุติ และการเล่นเกมต่าง ๆ
5. ด้านดนตรี ได้แก่ การแสดงความสามารถด้านการร้องเพลง การอ่านคำคล้องจอง การอ่าน บทร้อยกรองทำนองเสนาะ และการฟังเทปเสียงบทอ่านร้อยกรอง
6. ด้านเข้าใจผู้อื่นและมนุษยสัมพันธ์ ได้แก่ การทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น การรับฟังความคิดเห็นและแสดงความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งแสดงออกทั้งจากสีหน้า ท่าทางและน้ำเสียง เช่น การยิ้ม การทักทายมีน้ำใจช่วยเหลือ การพูดจาสุภาพ รู้จักขอโทษและขอบคุณ
7. ด้านการเข้าใจตนเอง ได้แก่ การรับรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง ทั้งทางความรู้สึกและอารมณ์ในภาวะต่าง ๆ เช่น ทั้งทางความรู้สึกและอารมณ์ในภาวะต่าง ๆ เช่น การวางตนในกลุ่มเพื่อน ความตั้งใจ
ในการทำงาน เลือกปฏิบัติงานในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบของตนเอง รู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง
8. ด้านธรรมชาติวิทยา ได้แก่ การเรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว บอกวิธีการอนุรักษ์และผลกระทบที่เกิดจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รู้จักประยุกต์ใช้วัสดุที่มีในธรรมชาติมาใช้ในการดำรงชีวิตได้ เช่น การทอเสื่อ การปรุงอาหารสูตรพื้นบ้าน
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความรู้ ความจำ ความเข้าใจของนักเรียนที่ได้อ่านจากหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ และเป็นคะแนนของนักเรียนที่ได้จากการทำ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน โดยใช้วิธีการสอนแบบพหุปัญญา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
ความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกชอบ ดีใจ และมีความสุขของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ และวิธีการสอนแบบพหุปัญญา ในการอ่านและเข้าใจความหมายของคำคล้องจอง ซึ่งความรู้สึกส่งผลต่อการเรียนและเอาใจใส่ในการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยความตั้งใจและกระตือรือร้น และแบบสอบถามความพึงพอใจ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (rating scale) ดังนี้ 5 หมายถึง มากที่สุด 4 หมายถึง มาก 3 หมายถึง ปานกลาง 2 หมายถึง น้อย 1 หมายถึง น้อยที่สุด
นักเรียน หมายถึง ผู้เรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนนครนนท์วิทยา 3 วัดนครอินทร์ สังกัดเทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีการสอนแบบพหุปัญญา มีประโยชน์ดังต่อไปนี้
1. ได้หนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจอง ชุด ภาษาสร้างสรรค์ ที่มีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้ประกอบสื่อการสอนในการอ่านคำพื้นฐานภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
2. เป็นแนวทางในการพัฒนาผลสมฤทธิ์ทางการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเกี่ยวกับการอ่านคำพื้นฐานภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
3. เป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารในการนำรูปแบบการสร้างและพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจองไปประยุกต์ใช้หรือพัฒนาในสายชั้นอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสถานศึกษา
4. เป็นแนวทางสำหรับครู หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถนำรูปแบบการสร้างและพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านคำคล้องจองไปประยุกต์ใช้หรือพัฒนางาน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงาน หรือตนเอง