ชื่อเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
ผู้รายงาน นางยุวดี โพธิ์หมุด
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการ
โรงเรียน บ้านหัวดง
ปีที่ศึกษา ๒๕๕๙
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำเป็นสิ่งที่สำคัญ
ในการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ซึ่งเริ่มเรียนภาษาไทย
จำเป็นต้องมีการฝึกฝนให้เกิดทักษะ และมีการนำทักษะการอ่านและการเขียนมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้หลากหลาย และเหมาะสมจะช่วยให้นักเรียนสามารถอ่านและเขียนสะกดคำ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้ศึกษาจึงได้พัฒนาแบบฝึกทักษะสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ ๑ ที่มีประสิทธิภาพโดยมีความมุ่งหมาย เพื่อพัฒนาพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียน
บ้านหัวดง ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ๘๐/๘๐ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียน เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ของนักเรียนระหว่างทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๙ โรงเรียนบ้านหัวดง จำนวนนักเรียน ๑๓ คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และเป็นชั้นที่ผู้ศึกษาได้ทำการสอน โดยใช้แบบฝึกทักษะที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นประกอบการสอนใช้แผนการทดลองแบบกลุ่มเดียวสอบก่อนและหลัง (One Group Pre-test Post-test Design) เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด จำนวน ๑๕ ชุด แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ ๓ ตัวเลือก จำนวน ๒๐ ข้อ ซึ่งค่าความยากตั้งแต่ ๐.๖๓
ถึง ๐.๗๘ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ ๐.๓๒ ถึง ๐.๗๑ และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๘๔ และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะ จำนวน ๑๐ ข้อ ซึ่งมีค่าจำแนกรายข้อตั้งแต่ ๐.๓๘ ถึง ๑.๐๐ และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๘ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมุติฐาน โดยใช้ t-test
แบบ dependent Samples
ผลการศึกษาพบว่า
๑. แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีประสิทธิภาพเท่ากับ ๘๓.๑๘/๘๒.๓๑ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ๘๐/๘๐
ที่ตั้งไว้
๒. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียน
สะกดคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ทั้ง ๑๕ ชุด มีค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
๓. ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีค่าเท่ากับ ๐.๗๓๔๑ หรือคิดเป็นร้อยละ ๗๓.๔๑
๔. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีความพึงพอใจในการเรียนอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเป็นสื่อที่น่าสนใจเรียนรู้ได้ง่าย
ทำให้นักเรียนมีความรู้ และมีความสามารถทางการเรียนรู้สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพผู้เรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในโอกาสต่อไป