ชื่อเรื่อง : รายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน
โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2
ผู้รายงาน : ประภาส แปงมูล
ปีที่ทำการรายงาน : 2560
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน รวมถึงเพื่อศึกษา ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ ในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 17 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 76 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 84 คน รวมทั้งสิ้น 184 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 แบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงของนักเรียนในการปฏิบัติตนด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 ได้รับแบบสอบถามคืนทุกฉบับคิดเป็นร้อยละ 100 จากนั้นนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคำนวณค่าทางสถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) สถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
สรุปผลการรายงาน พบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 พบว่า ภาพรวมของการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน อยู่ในระดับมาก โดยด้านการปรับปรุงเพื่อพัฒนา อยู่ในระดับมาก รองลงมา ด้านการดำเนินงาน ด้านวางแผนการปฏิบัติ และด้านการตรวจสอบประเมินผล โดยผลการวิเคราะห์รายด้าน พบว่า
ด้านการวางแผนการปฏิบัติ (Plan) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ การวิเคราะห์บริบทชุมชนและข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน รองลงมา คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ลำดับสาม คือ การศึกษานโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดและของกระทรวง ฯ
ด้านการดำเนินงาน (Do) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ การจัดสถานที่มีความเหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ รองลงมา คือ การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ลำดับสาม คือ การแนะนำวิธีดำเนินการในกิจกรรมมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ
ด้านการตรวจสอบประเมินผล (Check) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ การรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ รองลงมา คือ การสรุปผลและรายงานผลการดำเนินงาน ลำดับสาม คือ การกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานก่อนการปฏิบัติงาน
ด้านการปรับปรุงเพื่อพัฒนา (Action) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รองลงมา คือ การวิเคราะห์ผลการประเมิน ตามแนวทางการพัฒนา การวัดและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางฯ ลำดับสาม คือ การสนับสนุนการดำเนินงานปรับปรุง พัฒนา
2. ผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจที่มีต่อผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนา คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 พบว่า ภาพรวมของความพึงพอใจ อยู่ในระดับมาก โดยด้านกระบวนการ อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ด้านผู้เรียน และด้านปัจจัย โดยผลการวิเคราะห์รายด้าน พบว่า
ด้านผู้เรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจในคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนที่เกี่ยวกับ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นอันดับแรก รองลงมา ซื่อสัตย์สุจริต ลำดับสาม รักความเป็นไทย ซึ่งข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ นักเรียนยืนตรงเมื่อได้ยินเพลงชาติและร้องเพลงชาติได้ รวมถึงบอกความหมายของเพลงชาติได้ รองลงมา คือ นักเรียนปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมไทยอย่างเหมาะสม เช่น การไหว้ การแสดงความเคารพและการยิ้มทักทายกัน ลำดับสาม คือ นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาไทยหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้านกระบวนการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนรายบุคคล รองลงมา คือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ด้านรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ลำดับสาม คือ การส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ด้านปัจจัย โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน รองลงมา คือ ผู้บริหารสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ลำดับสาม คือ ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน
3. ผลการวิเคราะห์สภาพความเป็นจริงของนักเรียนในการปฏิบัติตนด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 โดยพฤติกรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม พบว่า โครงการ ฯ มีกิจกรรมที่หลากหลาย มีความสุขที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมและได้รับความรู้ใหม่ ๆ จากกิจกรรม โดยมีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มีการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์อย่างเต็มใจ โดยเมื่อได้ยินเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี จะยืนตรง เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ตนนับถือและปฏิบัติตนตามหลักของศาสนาส่งผลทำให้ได้เป็นผู้ปฏิบัติตนในทางที่ดี ที่ชอบ เป็นผู้ประพฤติตนอย่างซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเมื่อเก็บของได้จะคืนสิ่งของ หรือทรัพย์สินให้กับเจ้าของทุกครั้ง ไม่เอาเปรียบผู้อื่นในเวลาทำงานร่วมกัน ส่วนด้านมีวินัย จะเข้าแถวรับของหรือเวลารับอาหารทุกครั้ง ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบของโรงเรียน ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนแล้วเสร็จ ในด้านใฝ่เรียนรู้ หมั่นค้นคว้าหาความรู้ในห้องสมุด และที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน สามารถแสดงออกทางวิชาการ ทำให้ได้รับรางวัลมากมาย อีกทั้งมีความรู้เกี่ยวกับงานเกษตรในโรงเรียนและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เป็นผู้รู้จักอดออม มีเงินไว้เป็นทุนเพื่อการศึกษาและใช้จ่ายตามความจำเป็น ในด้านความมุ่งมั่นในการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข รู้จักช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ด้านรักความเป็นไทย มีความภูมิใจและหวงแหนในวัฒนธรรมชนเผ่ากะเหรี่ยง แสดงออกถึงการมีมารยาทไทย ทั้ง การไหว้ ยิ้ม การทักทาย สืบสานเกี่ยวกับงานหัตกรรมของชนเผ่า และด้านมีจิตสาธารณะ สามารถดูแล รักษาทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อมของห้องเรียน โรงเรียนและชุมชน อีกทั้งเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และมีน้ำใจต่อผู้อื่น
พฤติกรรมของนักเรียนหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน โรงเรียนของตนเองและต่อผู้อื่น พบว่า ส่วนใหญ่ได้ร่วมกับเพื่อนนักเรียน คณะครูช่วยบำเพ็ญประโยชน์โดยการทำความสะอาด มีจิตอาสา ให้กับโบสถ์ ชุมชนในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมทำบุญประจำปีของศาสนาคริสต์ กิจกรรมต่าง ๆในชุมชน ในส่วนของโรงเรียนได้ช่วยเหลืองานของโรงเรียน ไม่ขีดเขียน โต๊ะ- เก้าอี้ ฝาผนังของโรงเรียน ปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน ชุมชน ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงาน รวมถึงญาติพี่น้อง ทั้งงานในบ้าน งานในไร่ สวน และไม่สร้างความเดือนร้อนให้กับผู้อื่น โรงเรียน ชุมชน โดยทิ้งขยะในที่ที่จัดไว้ให้ทิ้ง ขับถ่ายในส้วมไม่สร้างความเลอะเทอะให้กับชุมชนและโรงเรียน อีกทั้งยังคอยว่ากล่าว ตักเตือน ว่ากล่าวกับเพื่อน ๆ และน้อง ๆที่ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม
ข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเสนอแนวทาง ให้ผู้บริหารควรจัดงบประมาณสนับสนุนโครงการอย่างเพียงพอ อีกทั้งให้คณะครูควรปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน เช่น ไม่ดื่มของมึนเมา มีการจัดให้นักเรียนได้ไปเรียนรู้หรือทัศนศึกษาอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะต่างจังหวัดเพื่อทำให้นักเรียนได้เรียนรู้สู่โลกกว้าง สนับสนุนให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน มีการทำโทษกับผู้ที่ปฏิบัติตัวและแสดงคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ สนับสนุนให้มีการเรียนรู้ผ่านค่ายคุณธรรม มีวิทยากรจากหน่วยงานภายนอก และส่งเสริมกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์
4. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการส่งเสริม พัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โรงเรียนบ้านฮากไม้ใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 พบว่า ในส่วนปัญหาและอุปสรรคด้านการวางแผนการปฏิบัติ ควรมีการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนให้ชัดเจน ครูและบุคลากรยังไม่เข้าใจในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนเท่าที่ควร ครูและผู้ปกครองขาดการประสานงานและการจัดทำข้อมูล เพื่อแก้ปัญหาคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนร่วมกัน ในส่วนด้านการดำเนินงาน พบว่า ครูมีภาระงานมาก ทำให้ปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งกิจกรรมมาก เวลาน้อย ส่วนนักเรียนสื่อสารภาษาไทยยังไม่ชัดเจน เนื่องจากใช้ภาษาถิ่นของชนเผ่ากะเหรี่ยงมากกกว่าภาษาไทยกลาง ส่วนปัญหาด้านการตรวจสอบประเมินผล ขาดการเปรียบเทียบผลการทำงานก่อนการปฏิบัติงาน และหลังปฏิบัติงานว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงานที่ปฏิบัติยังมีความล่าช้า มีการนิเทศติดตามงานยังไม่ต่อเนื่อง และปัญหา อุปสรรคด้านการปรับปรุงเพื่อพัฒนา ยังขาดการกำหนดมาตรฐานจากผลการดำเนินงานใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในอนาคตหรือทำการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ขาดการนำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ต่อเนื่อง และการสรุปผลการดำเนินงานยังไม่ครอบคลุมในทุกขั้นตอนและทุกกิจกรรม
ข้อเสนอแนะ ในด้านการวางแผนการปฏิบัติ ควรสร้างความตระหนักในการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนให้กับบุคลากรทุกฝ่าย ทั้งจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนให้เป็นระบบ มีการประสานงานระหว่างโรงเรียน ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล ด้านการดำเนินงาน ให้มีการเสริมสร้างขวัญ กำลังใจให้กับบุคลากรทุกฝ่าย บุคลากร ครูดูแลเอาใจใส่ และหมั่นพูดคุยซักถามนักเรียน และขยายเวลาในการจัดกิจกรรม ส่วนด้านการตรวจสอบประเมินผล ให้มีการเปรียบเทียบผลการทำงานก่อนการปฏิบัติงาน และหลังปฏิบัติงาน ก่อนการดำเนินงานทุกครั้ง ทั้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินผล และมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติงานต่อเนื่องสม่ำเสมอ อีกทั้งในส่วนการปรับปรุงเพื่อพัฒนา ควรมีการกำหนดมาตรฐานจากผลการดำเนินงานใหม่ เป็นแนวทางการวางแผนงานในครั้งต่อไป ควรนำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งประชุมสรุปผลการดำเนินงาน และร่วมกันอภิปรายเพื่อแก้ปัญหาให้มากขึ้น มีการนิเทศ กำกับ ติดตาม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์และมีการเผยแพร่ผลการดำเนินงาน ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
5. ปัญหาและอุปสรรค ด้านคุณภาพผู้เรียน พบว่า นักเรียนมีพื้นฐานแตกต่างกัน เช่น ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม ความหลากหลายของวัฒนธรรมชนเผ่า อีกทั้งนักเรียนยังขาดความกระตือรือร้นในการใฝ่รู้ ใฝ่เรียนอย่างสม่ำเสมอ และบางคนยังขาดความตระหนักในการร่วมกิจกรรม ในด้านกระบวนการ มีการกำกับติดตามพฤติกรรมของนักเรียนน้อย กิจกรรมการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน บางกิจกรรมยังไม่ชัดเจน ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ทั้งยังขาดการเอาใจใส่ในด้านการติดตาม ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาด้านปัจจัย งบประมาณในการดำเนินการไม่เพียงพอต่อกิจกรรมที่หลากลาย ทั้งรูปแบบและวิธีการ ทั้งการประสาน ติดต่อกับหน่วยงานอื่น ๆยังไม่ต่อเนื่อง รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนมีภาระงานที่ต้องประกอบอาชีพทำให้มีเวลาไม่เพียงพอในการวางแผนและประเมินผลโครงการ
ข้อเสนอแนะ ด้านคุณภาพผู้เรียน ให้มีการประชุมชี้แจง ผู้ปกครอง ทำความเข้าใจ สร้างความตระหนักในการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำการปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้แก่เด็กนักเรียนให้เป็นคุณลักษณะที่ฝังลึกใน จิตใจ จัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยใช้วิธีที่หลากหลายและเน้นการส่วนร่วม รวมถึงครูควรกระตุ้นให้นักเรียนกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น ในด้านกระบวนการ ให้สร้างความตระหนักในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายโดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน มีการสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และมีวิธีการ หรือเทคนิคการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย มีการประเมินผลเป็นระยะและมีผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนด้านปัจจัย ควรมีการวางแผนงานในการบริหารงบประมาณอย่างเป็นระบบ มีโครงการ กิจกรรม ระบุงบประมาณชัดเจน และหางบประมาณจากหน่วยงานอื่น ๆมาสนับสนุน และควรมีการร่วมมือจากชุมชนและองก์กรต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดปฏิทินการปฏิบัติงานร่วมกัน
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1. มีการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในปีต่อไป และนำข้อเสนอแนะจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา มาปรับปรุงและพัฒนาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น หรือเพิ่มรูปแบบให้หลากหลาย โดยประสานขอความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ
2. การจัดกิจกรรมตามโครงการควรมีความต่อเนื่องและปรับปรุง พัฒนาอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ควรจัดทำเป็น Best Practice เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
3. นำรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนไปประยุกต์ใช้โดยเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนต่อไป
4. มีการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนได้รับรู้ ปรับปรุงโครงการให้มีความชัดเจนในเรื่องกิจกรรมที่อยู่ในกรอบของโครงการ
5. ผู้ปกครองนักเรียนควรมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โดยเริ่มต้นจากที่บ้านซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีแก่นักเรียน
6. จัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาทั้งการบริการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เสริมสร้างการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง
7. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่าง โรงเรียน ชุมชน หน่วยงานอื่น ๆ ถึงการเสริมสร้างพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนเป็นประจำทุกปีการศึกษา
8. มีการระดมทรัพยากรจากชุมชน องค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้กับผู้เรียนอย่างเพียงพอ
ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาครั้งต่อไป
1. ควรทำการวิจัยและพัฒนาพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อย่างต่อเนื่องทุกปีการศึกษาจนจบการศึกษา จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษาของผู้เรียนให้ดีขึ้น สังคมเกิดการยอมรับ ดำรงชีพอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้
2. ควรส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และครูควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ constructivism / team teaching / cooperative / intregrate
3. ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่นๆ ที่ได้มีการจัดโครงการและกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน เพื่อจะได้ทราบแนวทางปฏิบัติซึ่งอาจต่างออกไป