การประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559
นางอรอุมา ขันธลักษณา
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้คือ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม และคณะ (Stufflebeam & Other) 4 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) ด้านกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 52 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ ด้วยเทคนิคการจัดแบบ (Likert) จำนวน 5 ฉบับ
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย (μ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) สรุปผลการประเมิน ดังนี้
1. ด้านบริบท (Context Evaluation) ของโครงการ พบว่า มีความสอดคล้องและเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (µ = 4.12) และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการพบว่า มีความสอดคล้องเหมาะสม
อยู่ในระดับมาก (µ = 4.39) และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ
3. ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการพบว่ามีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (µ=4.23) และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ
4 ด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (μ= 4.40) และผ่านเกณฑ์การประเมิน
5. ด้านความพึงพอใจของครูที่มีต่อโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (μ= 4.52) และผ่านเกณฑ์การประเมิน
บทนำ
การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน เป็นกระบวนการ
ที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพเพื่อให้สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ในสภาพสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข ดังพระราชดำรัสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ว่าในปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งการปฏิรูประบบราชการและการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ในขณะที่การปฏิรูประบบราชการได้มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยให้มีความเป็นเลิศสามารถรองรับการพัฒนาประเทศใน
ยุคโลกาภิวัตน์โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและประโยชน์สุขของประชาชน การปฏิรูปการศึกษาได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ โดยมุ่งพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาให้ประชาชนมีความรู้ มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม ฐานความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (วรเดช จันทรศร 2547 : คำนำ) และตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 6 บัญญัติว่า การจัดการศึกษา ต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (กระทรวงศึกษาธิการ 2545 : 10) หลังจากที่มีการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 47 กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการปฏิบัติอย่างหลากหลาย ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการที่สำคัญ คือ กระบวนการบริหารจัดการกระบวนการจัดการเรียนรู้และกระบวนการนิเทศ ติดตาม ประเมินผล (กระทรวงศึกษาธิการ 2545 : 29) ซึ่งในปัจจุบันการพัฒนาคุณภาพการศึกษายอมรับการบริหารโดยใช้ระบบประกันคุณภาพมากกว่าระบบการควบคุมคุณภาพ อย่างในอดีตที่เคยผ่านมา เนื่องจากระบบการควบคุมคุณภาพ มุ่งแก้ไขปัญหาหลังจากการสูญเสียความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ระบบการประกันคุณภาพมุ่งเน้นป้องกันโดยสร้างวิธีการที่ถูกต้องขึ้นตั้งแต่แรกให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสที่ผลผลิตจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จากแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 2559) ของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาระดับต่าง ๆ ทุกระดับโดยมีกรอบความคิดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีขึ้นตอนการดำเนินการตั้งแต่กระบวนการบริหารโรงเรียน กระบวนการจัดการเรียนการสอนและกระบวนการนิเทศติดตามผลเพื่อให้การจัดการศึกษาประสบผลสำเร็จสูงสุดและมีคุณภาพอย่างต่อเนื่องนโยบายการนิเทศภายในให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการปฏิบัติงานนิเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ครูในโรงเรียนได้รับการนิเทศและใช้กระบวนการนิเทศเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือของทุกฝ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หลักการสำคัญของการนิเทศ คือ ความทั่วถึงความต่อเนื่องและนิเทศอย่างมีคุณภาพโดยคาดหวังว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพครูและบุคลากรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนจากการสอนเนื้อหาความจำเป็นการสอนให้เกิดการเรียนรู้และนักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการประกันคุณภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ 2555 : 19) นอกจากนั้นสาระสำคัญของแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 2559) ของกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศการศึกษา ดังนี้ นโยบายข้อ 4 ปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา ในมาตรการข้อ 5 ที่ว่า มีระบบการติดตาม นิเทศช่วยเหลือครูในการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชี้แนะสิ่งที่เป็นอุปสรรค และแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงาน นโยบายข้อ 6 ปฏิรูปการบริหารสำนักงานทุกระดับ ให้มีประสิทธิภาพในมาตรการข้อ 3 ที่ว่า สำนักงานทุกระดับมีกลไกทางการติดตาม นิเทศ ประเมินผลเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาและมีระบบข้อมูลแสดงผลการดำเนินงานข้อมูล นวัตกรรม ข่าวสารที่ช่วยการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติและข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว... มาตรการข้อที่ 2 ที่ว่า ...ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการทำระบบข้อมูลเพื่อการวางแผนการนิเทศ การกำกับติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายถึงจังหวัด อำเภอ และโรงเรียน... ข้อ 4 ที่ว่า...จัดระบบการวางแผนการกำกับติดตามการปฏิบัติงานตามแผน และการประเมินผลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ในการดำเนินงานจัดการศึกษาทุกระดับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง... ข้อ 7 ที่ว่า ...ส่งเสริมให้ มีการนิเทศการศึกษาอย่างเป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (กระทรวงศึกษาธิการ 2555 : 25) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาขนานใหญ่หรือปฏิรูปการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาของประเทศได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษา โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้ 4 ด้าน คือ การปฏิรูปโรงเรียนและสถานศึกษา การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน และการปฏิรูประบบบริหารการศึกษา ในการปฏิรูปทั้ง 4 ด้าน การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษามีความสำคัญ และเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากครูและบุคลากรทางการศึกษามีบทบาทสำคัญยิ่ง เพราะครูเป็นผู้จัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนโดยตรง ดังนั้นการนิเทศภายในโรงเรียนจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน และสถานศึกษาอย่างยิ่ง อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดให้มาตรฐานโรงเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการประกันคุณภาพ และได้ให้ความสำคัญของการควบคุมกำกับติดตาม และการนิเทศ ดังปรากฏในมาตรฐานด้านการบริหารโรงเรียน มาตรฐานที่ 1 โรงเรียนใช้แผนเป็นเครื่องมือในการบริหาร ตัวบ่งชี้ที่ 4 ที่ว่า... ให้มีการดำเนินการนิเทศ ติดตามผลการปฏิบัติงาน/โครงการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุตามแผนโดย ใช้กิจกรรมหลากหลายมีบุคลากรรับผิดชอบชัดเจน ปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่กำหนดและบุคลากรส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ดีต่อการควบคุม กำกับ ติดตาม และนิเทศ การดำเนินการกิจกรรมหรือโครงการใด ๆ ก็ตาม ถ้าต้องการทราบผลความก้าวหน้าหรือ จุดเด่น จุดด้อยเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงการประเมินผลเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติ กิจกรรมหรือโครงการนั้นเมื่อสิ้นสุด ผู้วิจัยได้ศึกษารูปแบบการประเมินโครงการ พบว่ามีหลายรูปแบบ แต่แบบที่นิยมใช้กันแพร่หลายได้แก่รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam. 1971 : 128) ได้เสนอการประเมินประกอบด้วยการประเมิน 4 ด้าน คือ 1) การประเมินสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation : C) เป็นการประเมินความต้องการ ความจำเป็นเพื่อจัดทำโครงการหรือจัดลำดับความสำคัญของโครงการและกำหนดจุดมุ่งหมายของโครงการต่าง ๆ การประเมินสภาวะแวดล้อมทำได้โดยการศึกษาอิทธิพลหรือแรงกดดันต่าง ๆ ของสิ่งภายนอกโครงการว่ามีต่อโครงการหรือไม่อย่างไรหรืออาจจะประเมินโครงการ โดยการเปรียบเทียบ วัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายของโครงการว่าสอดคล้องกับนโยบายหรือปรัชญาของสถาบันหรือไม่ 2) การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation : I) เป็นการประเมินว่าปัจจัยที่เราต้องการมีอะไรบ้าง พอเพียงหรือไม่ ภายใต้ปัจจัยนี้มีโปรแกรมหรือทางเลือกใดที่เราควรดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการหรือถ้าประเมินโครงการที่ดำเนินไว้ ผลจากการประเมินปัจจัยก็จะทำให้คำตอบว่าการดำเนินโครงการที่ทำไปนั้นได้ดำเนินไปตามแผนเหมาะสมหรือไม่ปัจจัยเบื้องต้นที่ใช้พอเพียงหรือไม่ 3) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation : P) เป็นการประเมินว่าได้นำโครงการไปปฏิบัติตามแผนที่กำหนดหรือไม่การประเมินกระบวนการทำได้ 2 ลักษณะ คือ มีการประเมินก่อนนำไปปฏิบัติจริงและประเมินกระบวนการขณะปฏิบัติอยู่ โดยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมจะช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อันจะนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินโครงการได้อย่างเหมาะสม 4) การประเมินผลผลิต (Product Evaluation : P) เป็นการประเมินผลลัพธ์ที่ได้ว่าเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของโครงการหรือไม่ ซึ่งอาจทำได้ทันทีที่โครงการสิ้นสุด การประเมินผลผลิตช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับรองการล้มเลิกหรือการปรับขยายโครงการถ้าจะทำต่อไป โรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งการประเมินในครั้งนี้ จะเป็นข้อสนเทศสำหรับผู้เกี่ยวข้องในการวางแผนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขและขยายผลโครงการโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพต่อไป
วัตถุประสงค์การประเมินโครงการ
ในการรายงานครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559 ไว้ 4 ด้าน ดังนี้
2.1 ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ (Context Evaluation)
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation)
2.3 ด้านกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation)
2.4 ด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation)
กรอบแนวความคิดในการวิจัย
ขอบข่ายการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559 ที่ครอบคลุมจึงควรประกอบด้วย 4 ส่วน การประเมินเกี่ยวกับบริบทของโครงการ (Context Evaluation) การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) การประเมินกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) และการประเมินผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) โดยมีคำย่อว่า CIPP Model ดังนี้
กรอบแนวความคิดในการประเมินโครงการ
วิธีดำเนินการประเมินโครงการ
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้ประเมินใช้ระเบียบวิธีการวิจัยประเมิน (Evaluation Research)
มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อประเมินสภาพแวดล้อม (Context) ของโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ในด้านความสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาด้านการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ในด้านความพร้อมของทรัพยากรในการดำเนินการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการ (Process) ของโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ในด้านการดำเนินการตามแผนและการกำกับติดตามผล และ 4) เพื่อผลผลิต (Product) ของโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ในด้านประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ของผู้เรียน การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข รวมถึงการประเมินความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อโครงการ
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนและบุคลกรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2559 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.1 ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 39 คน
1.2 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ประเมินได้สร้างแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล มีลักษณะเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ ด้วยเทคนิคการจัดแบบ (Likert) ประกอบด้วย
ฉบับที่ 1 สำหรับครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ประเมิน
ด้านสภาพแวดล้อม
ฉบับที่ 2 สำหรับครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ประเมิน
ด้านปัจจัยนำเข้า
ฉบับที่ 3 สำหรับครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ประเมิน
ด้านกระบวนการ
ฉบับที่ 4 สำหรับครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ประเมินผลผลิตตามวัตถุประสงค์โครงการ
ฉบับที่ 5 สำหรับครูผู้สอนเป็นผู้ประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานตามโครงการ
การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. ผู้ประเมินดำเนินการแบบรวบรวมข้อมูล ด้วยวิธีการแจกแบบสอบถามให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อทำการตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง
2. เก็บข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการแล้วตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้องของแบบสอบถามที่ได้รับกลับมาแต่ละข้อคำถาม แล้วนำข้อมูลมาประมวลผลวิเคราะห์หาค่าสถิติ
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559 ในครั้งนี้ ผู้ประเมินได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ใช้การหาค่าเฉลี่ย () และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน () ในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้
สรุปผลการประเมิน
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559 ดังนี้
1.1 ด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ของโครงการมีความสอดคล้อง/เหมาะสม
อยู่ในระดับมาก (μ = 4.12) และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.39) และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ
1.3 ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (μ = 4.23)
และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ
1.4 ด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (μ= 4.40)
และผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยมีด้านประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (μ= 4.29) และผ่านเกณฑ์การประเมินด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (μ= 4.37) และผ่านเกณฑ์การประเมิน ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนอยู่ในระดับมากที่สุด (μ= 4.53) และผ่านเกณฑ์การประเมิน และด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขอยู่ในระดับมาก (μ= 4.42) และผ่านเกณฑ์การประเมิน
1.5 ด้านความพึงพอใจของครูที่มีต่อโครงการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บางวัว) ปีการศึกษา 2559 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (μ= 4.52) และผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะ
3.1 ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการประเมินไปใช้ดังนี้
3.1.1 ควรกำหนดแนวทางที่หลากหลายในการนิเทศภายในโรงเรียน ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
3.1.2 โรงเรียนควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในติดตามการนิเทศภายในโรงเรียน
3.1.3 โรงเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนให้มากขึ้น
3.1.4 ควรจัดระบบข้อมูลสารสนเทศให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อสะดวกในการศึกษาข้อมูลและนำไปใช้เพื่อพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตลอดทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการตามโครงการ
3.1.5 ควรนำผลการรายงานประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาสู่การรับการประเมินภายนอกรอบสาม
3.2 ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินครั้งต่อไป
3.2.1 ควรให้มีการศึกษารูปแบบของการนิเทศภายในสถานศึกษา
3.2.2 ควรให้มีการศึกษาปัญหาที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการนิเทศภายในเพื่อทำให้ทราบถึงปัจจัยที่ทำให้กระบวนการนิเทศภายในไม่บรรลุเป้าหมาย