บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการจำเป็นในการนิเทศภายในสถานศึกษา สร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา ทดลองใช้และศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา และประเมินรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนบ้านกระหวัน ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียนบ้านกระหวัน จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามและแบบประเมิน จำนวน 7 ชุด ได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูลการสนทนาเกี่ยวกับการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2) แบบสอบถามเกี่ยวกับความต้องการในการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบประเมินคุณภาพของรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบสังเกตพฤติกรรมผู้บริหาร ผู้นิเทศ และผู้รับการนิเทศ 5) แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 7) แบบประเมินรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา บรรยายสรุปในเชิงพรรณนา และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สาเหตุของปัญหาที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านกระหวัน พบว่า มีสาเหตุ 3 ประการคือ 1) สาเหตุจากตัวนักเรียน ได้แก่ ลักษณะหรือพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่เหมาะสม พื้นฐานทางการเรียนเดิม นิสัยในการเรียน การมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียน 2) สาเหตุมาจากลักษณะครอบครัวของนักเรียน และ 3) สาเหตุมาจากการจัดการศึกษาของโรงเรียน สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ที่ประชุมเห็นว่า ควรดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การบริหารจัดการศึกษาในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการนิเทศภายในสถานศึกษาทั้งระบบ จึงจะเกิดผลสำเร็จได้ แต่การนิเทศภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านกระหวันในปัจจุบันพบว่า การดำเนินการยังไม่ประสบผลสำเร็จและไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ ผู้บริหารและครูผู้สอนจึงมีความต้องการในการนิเทศภายในสถานศึกษาตามแนวคิดการนิเทศการศึกษาของกลิคแมน 5 ด้าน คือ การให้ ความช่วยเหลือแก่ครูโดยตรง การพัฒนาทักษะการทำงานกลุ่ม การเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตร การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
2. ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนโรงเรียนบ้านกระหวัน และคู่มือการใช้รูปแบบฯ ที่สร้างขึ้น มีคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยด้านที่มีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านจุดประสงค์ในการสร้างรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา ด้านความชัดเจนของเนื้อหาในการใช้รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา ด้านความชัดเจนในการใช้ภาษา ด้านความเหมาะสมในการพิมพ์และรูปเล่ม ยกเว้น ด้านความสะดวกในการนำรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาไปใช้ ซึ่งมีคุณภาพอยู่ในระดับมาก
3. ผลจากการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนบ้านกระหวัน พบว่า 1) ผู้บริหารและครูผู้นิเทศ ครูผู้สอนซึ่งเป็นผู้รับการนิเทศ สามารถดำเนินการและปฏิบัติตามรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาได้ 2) ผู้บริหารและครูผู้สอนมีความเห็นว่า การปฏิบัติการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทั้ง 5 ด้าน มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด 3 ด้าน คือ การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน การพัฒนาหลักสูตร และการเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพ ส่วนด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ครูโดยตรง และการพัฒนาทักษะการทำงานกลุ่ม เห็นว่ามีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก 3) ครูมีความพึงพอใจต่อการดำเนินการนิเทศตามกระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด และครูมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินการนิเทศภายในสถานศึกษา ทั้ง 3 ด้าน คือ พฤติกรรมการทำงานและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 4) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในปีการศึกษา 2559 ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้สูงขึ้น 5) ผลการประเมินการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2559 ในแต่ละด้านมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับสังกัดและระดับประเทศ 6) ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านกระหวัน ปีการศึกษา 2559 โดยรวมทุกวิชาคะแนนเฉลี่ยมีพัฒนาการก้าวหน้าสูงขึ้นและนักเรียนมีความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ผ่านเกณฑ์การประเมินคิดเป็นร้อยละ 98.64
4. รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน คือ มาตรฐานด้านความถูกต้อง มาตรฐานด้านความเหมาะสม มาตรฐานด้านความเป็นประโยชน์ และมาตรฐานด้านความเป็นไปได้ โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย
5. ผลจากการพัฒนารูปแบบฯ ดังกล่าว ทำให้ได้รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนบ้านกระหวัน ที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
5.1) การให้ความช่วยเหลือแก่ครูโดยตรง ประกอบด้วย การวางแผนร่วมกับครูในการให้ความช่วยเหลือ เข้าไปมีส่วนร่วมกับครูเพื่อช่วยเหลือ สรุปผลการช่วยเหลือและวางแผนที่จะประชุมตรวจสอบความช่วยเหลือร่วมกับครู การประชุมวิเคราะห์ผลการช่วยเหลือร่วมกับครู ประชุมสรุปและวิเคราะห์กระบวนการช่วยเหลือครูทุกขั้นตอนเพื่อวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยของกระบวนการ
5.2) การพัฒนาทักษะการทำงานกลุ่ม ประกอบด้วย การพัฒนาครูให้มีศักยภาพในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์ การสร้างวินัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในทีมงาน การกำหนดปัญหาและเป้าหมายการแก้ปัญหาร่วมกัน การวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหาของทีมงาน การสร้างแรงจูงใจ การเสริมแรงและสร้างขวัญกำลังใจ
5.3) การเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพ ประกอบด้วย สำรวจความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พัฒนาความสามารถในการสอนให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดกิจกรรมสัมมนาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมตามมาตรฐานวิชาชีพครู
5.4) การพัฒนาหลักสูตร ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา วางแผนการดำเนินการใช้หลักสูตร ดำเนินการบริหารหลักสูตร การนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผล สรุปผลการดำเนินการบริหารจัดการหลักสูตรของสถานศึกษา การปรับปรุง พัฒนากระบวนการบริหารจัดการหลักสูตร โดยการติดตามประเมินผล การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาของนักเรียน จะทำให้ทราบปัญหาข้อบกพร่องของหลักสูตรเป็นข้อมูลย้อนกลับในการนำมาพิจารณาถึงการพัฒนาหลักสูตร
5.5) การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน ประกอบด้วย การกำหนดปัญหา หรือ เป้าหมายการวิจัย การกำหนดวิธีการวิจัย หรือวิธีหาคำตอบ หรือวิธีการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน การรวบรวมข้อมูลตามวิธีการที่กำหนด การวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปและเขียนรายงานเชิงปฏิบัติการในชั้น