ชื่อเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง หม่อนไหม
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพเเละเทคโนโลยี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนเกิ้งวิทยานุกูล
ผู้วิจัย นางสาวบังอร ทัพเจริญ
ปีที่ทำวิจัย พ.ศ. 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยแบบวิจัย และพัฒนา (Research and Development : R & D) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นและประเมินหลักสูตรท้องถิ่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง หม่อนไหม กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเกิ้งวิทยานุกูล มีขั้นตอนในการวิจัย และพัฒนา 4 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน และความต้องการ 2) การพัฒนา และหาคุณภาพของหลักสูตรท้องถิ่น 3) การทดลองใช้หลักสูตรท้องถิ่น และ 4)การประเมินผล และปรับปรุงแก้ไข กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเกิ้งวิทยานุกูล ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม รวมจำนวนทั้งสิ้น 59 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) หลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง หม่อนไหม กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) แบบประเมินหลักสูตรท้องถิ่น มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามวิธีของลิเคอร์ท (Likert) ซึ่งมีระดับความเหมาะสม 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 3) แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียนในการใช้หลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง หม่อนไหม
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง หม่อนไหม กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพเเละเทคโนโลยี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้ได้หลักสูตรท้องถิ่น ที่จะนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ในรายวิชาเพิ่มเติม รวมจำนวน 3 หน่วยการเรียนรู้ 8 แผนการจัดการเรียนรู้ ใช้เวลาเรียนรวม 16 ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558
2. ผลการสังเกตพฤติกรรมนักเรียนในการใช้หลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง หม่อนไหม
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพเเละเทคโนโลยี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนทุกคนให้ความสนใจในหลักสูตรท้องถิ่น โดยเฉพาะกิจกรรมที่นักเรียนลงมือปฏิบัติ ได้แก่ การถอดบทเรียนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประโยชน์และคุณค่าหม่อนไหม รวมถึงการแปรรูปสบู่จากรังไหม ยกเว้น กิจกรรมเครื่องประดับตกแต่งประดิษฐ์จากรังไหม นักเรียนหญิงทุกคนสนใจในการปฏิบัติกิจกรรม ส่วนนักเรียนชายมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สนใจ ในด้านกิจกรรมที่เป็นการบรรยายนักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ได้แก่ วัฏจักรไหม คุณค่าของหม่อนไหม และอาชีพหม่อนไหม กิจกรรมการจัดนิทรรศการ นักเรียนทุกคนกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม มีการเตรียมอุปกรณ์เพื่อตกแต่งสถานที่ในการจัดนิทรรศการ มีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานภายในกลุ่มดีมาก
3. ผลการประเมินความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อหลักสูตรท้องถิ่น หม่อนไหม
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น พบว่า ผลการประเมินหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง หม่อนไหม กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทลโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยผู้เชี่ยวชาญมีค่าเฉลียโดยรวมอยู่ในระดับเหมาะสมมาก ค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.23) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากขึ้นไปในทุกข้อ โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ผังมโนทัศน์มีความเหมาะสมมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย
(x̄ = 4.80) พันธกิจและสื่อ/แหล่งการเรียนรู้ (x̄ = 4.60) และการวิเคราะห์หลักสูตรสาระการเรียนรู้ชั้นปี ผลการเรียนรู้ และสาระการเรียนรู้รายภาคมีความเหมาะสมมาก มีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.40)