เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา
และวัฒนธรรมเรื่อง มัคคุเทศก์น้อยตามรอยอนุรักษ์ เมืองแห่งขุนเขาแมกไม้ สายน้ำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตะเหลี่ยง
ผู้รายงาน นางสาวไลลา บริบูรณ์
ปีที่รายงาน 2560
บทคัดย่อ
การพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและประเมินผลการใช้หลักสูตร เรื่อง มัคคุเทศก์น้อยตามรอยอนุรักษ์เมืองแห่งขุนเขา แมกไม้ สายน้ำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการพัฒนาประกอบไปด้วย บุคคล 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.1) ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 2 คน 1.2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2560 ภาคเรียนที่ 2 โรงเรียน บ้านตะเหลี่ยง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 จำนวน 21 คน 1.3) ผู้นำชุมชนด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และผู้รู้ในชุมชนด้านประวัติของชุมชนในท้องถิ่น ลุ่มน้ำบางนรา จำนวน 2 คน และ 1.4) ผู้ปกครองนักเรียนทางด้านเนื้อหาสาระของหลักสูตร จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์เพื่อการวิเคราะห์สถานการณ์ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง มัคคุเทศก์น้อย ตามรอยอนุรักษ์ เมืองแห่งขุนเขา แมกไม้ สายน้ำ แบบประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เพื่อประเมินผลการใช้หลักสูตร ผู้รายงานทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำเสนองานศึกษาในรูปของการบรรยายเชิงพรรณนา
ผลการพัฒนาสรุปได้ดังนี้
1. การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเรื่อง มัคคุเทศก์น้อยตามรอยอนุรักษ์ เมืองแห่งขุนเขา แมกไม้ สายน้ำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตะเหลี่ยง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 มีขั้นตอนการพัฒนา คือ การวิเคราะห์สถานการณ์บริบทชุมชนในท้องถิ่นลุ่มน้ำบางนรา บริบทโรงเรียนบ้านตะเหลี่ยง และความต้องการหลักสูตรสถานศึกษาเรื่อง มัคคุเทศก์น้อยตามรอยอนุรักษ์ เมืองแห่งขุนเขา แมกไม้ สายน้ำ ของโรงเรียนบ้านตะเหลี่ยง โดยมีการวางแผนและการออกแบบหลักสูตร ที่ยึดรูปแบบกิจกรรมตามความต้องการของชุมชนและสมรรถภาพของผู้เรียนเป็นหลัก การใช้หลักสูตร ผู้รายงานได้มีการประสานงานกับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เตรียมเอกสารประกอบการสอน สถานที่ แหล่งเรียนรู้และประชาสัมพันธ์หลักสูตร หลังจากนั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้วิทยากรท้องถิ่นร่วมสอนและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่วนการประเมินผลหลักสูตรมีการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัยและจิตพิสัย รวมทั้งประเมินพฤติกรรม การปฏิบัติงาน และการประเมินความคิดเห็นของผู้เรียน ผู้ปกครองนักเรียน ครูผู้สอน ผู้นำชุมชนและผู้รู้ในชุมชน
2. สำหรับผลของการใช้หลักสูตร พบว่า ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้าน พุทธิพิสัย โดยรวมความรู้อยู่ในระดับดี คือร้อยละ 71.00 ด้านทักษะพิสัยโดยรวมมีคะแนนอยู่ในระดับดีมาก เท่ากับร้อยละ 88.00 และด้านจิตพิสัยโดยรวมมีคะแนนอยู่ในระดับดีมาก เท่ากับร้อยละ 80.00 ส่วนความคิดเห็นของผู้เรียนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตร พบว่า โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับดี ส่วนความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนโดยรวม มีความคิดเห็นในระดับดี ส่วนความคิดเห็นของผู้นำชุมชนและผู้รู้ในชุมชนเกี่ยวกับผลการใช้หลักสูตรฯ พบว่า มีความพึงพอใจ ผู้เรียนมีความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม สำหรับความคิดเห็นของครูผู้สอนเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร การใช้หลักสูตรและการประเมินผลการใช้หลักสูตร พบว่า มีความเหมาะสม