โรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ ๓ ได้ดำเนินการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด รวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ ซึ่งโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ ๓ ได้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
๑. เพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา โดยการสอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
๒. เพื่อส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
๓. เพื่อสร้างความตระหนัก และส่งเสริมการบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่โครงการ กิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปี
๔. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองและหน่วยงานอื่น
๕. เพื่อนิเทศ กำกับ ติดตาม การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การปฏิบัติของโรงเรียนอย่างยั่งยืน
การดำเนินการยึดทฤษฎีของเศรษฐกิจพอเพียง และวงจรคุณภาพ เดมมิ่ง(PDCA) ซึ่งในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เพื่อเป็นแบบอย่างการจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำเนินการเชิงคุณภาพ โดยใช้เกณฑ์ประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปี ๒๕๖๐ มี ๕ ด้าน ๑๗ องค์ประกอบ ๖๒ ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านที่ ๑ ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษามี ๔ องค์ประกอบ ๖๒ ตัวชี้วัด ด้านที่ ๒ ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน มี ๔ องค์ประกอบ ๑๔ ตัวชี้วัด ด้านที่ ๓ ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มี ๓ องค์ประกอบ ๑๕ ตัวชี้วัด ด้านที่ ๔ ด้านการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษามี ๒ องค์ประกอบ ๗ ตัวชี้วัด ด้านที่ ๕ ด้านผลลัพธ์/ภาพความสำเร็จ มี ๔ องค์ประกอบ ๑๒ ตัวชี้วัด ผลดำเนินการสรุปได้ดังนี้
๑. ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามมาตรฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละระดับชั้นปีการศึกษา
๒. ผู้เรียนปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ในด้านวัตถุ เศรษฐกิจ ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า
๓. บุคลากรของสถานศึกษา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายที่ถูกต้องของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
๔. บุคลากรจัดการทรัพยากรและดำเนินชีวิตด้านเศรษฐกิจ อย่างสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดูแลการใช้ประโยชน์จากสาธารณะสมบัติอย่างคุ้มค่า
๕. ผู้ปกครอง และชุมชน มีความศรัทธาในการจัดการศึกษา เชื่อมั่นต่อนโยบายการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ส่งผลต่อการมีคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน