บทคัดย่อ
ชื่อผลงานทางวิชาการ การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
ชื่อผู้ศึกษา นางอัชรา ไชยดี
ปีที่ศึกษา ๒๕๖๐
สังกัด โรงเรียนบ้านลำไซกง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๓
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ เรื่อง มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ (๒) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ เรื่อง มาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ (๓) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ระหว่าง
ก่อนเรียนและหลังเรียนจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ
เรื่อง มาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ (๔) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน
ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ เรื่อง มาตราตัวสะกด
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ ๒
ปีการศึกษา ๒๕๖๐ จำนวน ๘ คน โรงเรียนบ้านลำไซกง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๓ ซึ่งเป็นห้องเรียนที่ผู้ศึกษาเป็นทำการสอนด้วยตนเอง ทดลองใช้เครื่องมือในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๐ ระหว่างวันที่
๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ (๑) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๑๘ แผน แผนละ ๑ ชั่วโมง รวมเวลาทั้งสิ้น ๑๘ ชั่วโมง (๒) แบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ เรื่อง มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๙ เล่ม (๓) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัย ๓ ตัวเลือก จำนวน ๓๐ ข้อ มีค่าความยากง่ายตั้งแต่ ๐.๒๕-๐.๗๙ และค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ ๐.๒๒-๐.๗๐ ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ
ทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๗๘ และแบบวัดความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง มาตราตัวสะกด
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำจำนวน ๑๕ ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนและ
หลังเรียนโดยใช้ t - test for Dependent Samples แบบแผนการศึกษา คือ One - Group Pretest-Posttest Design
ผลการศึกษาพบว่า
๑. แบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ เรื่อง มาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ ๘๕.๑๓/๘๖.๖๗ ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ ๘๐/๘๐
๒. ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ เรื่อง มาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีค่าเท่ากับ ๐.๘๐๐๐ แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนคิดเป็น ร้อยละ ๘๐.๐๐
๓. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ เรื่อง มาตราตัวสะกด หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๔. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน-เขียนสะกดคำ เรื่อง มาตราตัวสะกด โดยภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด ( = ๔.๕๙)