บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนไม้แก้วประชานุเคราะห์ ปีการศึกษา 2559 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 ครั้งนี้ใช้รูปแบบการประเมิน แบบซิปป์ (CIPP Model) โดยการประเมิน ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการและ ด้านผลผลิต
ผู้ประเมินได้ทำการประเมินเพิ่มเติมในด้านผลกระทบ ประเมินนิสัยรักการอ่านและความพึงพอใจของนักเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 3 คน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 6 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 จำนวน 28 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 จำนวน 26 คนรวมทั้งสิ้น 65 คน ได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม จำนวน 7 ฉบับ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1. ด้านบริบท (Context) โครงการนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนไม้แก้วประชานุเคราะห์ มีความเหมาะสมกับบริบท ซึ่งประกอบด้วย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ วิสัยทัศน์ เป้าหมาย พันธกิจของสถานศึกษาและความสำคัญของการจัดทำโครงการอยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input)) พบว่า มีความเพียงพอต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก
ทั้งจำนวนและศักยภาพของบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ จำนวนหนังสือ งบประมาณ ทั้งจากหน่วยงาน
ต้นสังกัดและจากหน่วยงานภายนอก สถานที่โรงเรียน มีความเพียงพอต่อการจัดกิจกรรม
3. ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า กระบวนการ ขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรมของโครงการนิสัยรักการอ่าน มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต (Product) จากการดำเนินโครงการนิสัยรักการอ่าน พบว่า มีผลเกิดขึ้นกับนักเรียนอยู่ในระดับมาก นักเรียนมีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมมีทักษะ การอ่านเพิ่มขึ้น และ
มีทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้ มีนิสัยรักการอ่าน เป็นไปตามจุดประสงค์ของโครงการ
5. ด้านผลกระทบ (Impact) พบว่า จากการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านส่งผลกระทบต่อโรงเรียนและนักเรียนในด้านบวก อยู่ในระดับมาก
6. ผลการประเมินนิสัยรักการอ่าน พบว่า นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านอยู่ในระดับมาก
7. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการทำกิจกรรมในโครงการนิสัยรักการอ่าน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก