ชื่อผลงาน การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD
ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์
เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นายสาธิต เสือทอง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๑ (แตงอ่อนเผดิมวิทยา) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อน-หลังใช้แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (3) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมตามแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาล ๑ (แตงอ่อนเผดิมวิทยา) สังกัดเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้วิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ จำนวน 16 แผน โดยทำการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ละ 1 ชั่วโมง รวมกับเวลาทำกิจกรรมก่อน-หลังการดำเนินการตามแผนอีก 2 ชั่วโมง รวมใช้เวลาทั้งหมด 18 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีดัชนี ค่าความยากง่าย (Difficulty) และค่าอำนาจจำแนก (Discrimination) รายข้อของข้อสอบแบบอิงกลุ่ม ได้ค่าความยากตั้งแต่ 0.30 ถึง 0.77 และมีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.29 ถึง 0.80 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.90 แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมตามแผน การจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 23 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (Discrimination) ตั้งแต่ 0.36 - 0.83 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับด้วยสัมประสิทธิ์แอลฟา(Alpha coefficient) ตามวิธีของ ครอนบาค (Cronbach) ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92
ผลการวิจัยพบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ เพื่อ ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพ 81.40/80.52 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
2. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีคะแนนก่อนเรียนเฉลี่ยเท่ากับ 15.28 คะแนน และมีคะแนนหลังเรียนเฉลี่ยเท่ากับ 24.16 เมื่อเปรียบเทียบ พบว่าคะแนนสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน การทดสอบค่า t คำนวณได้ 28.31 มากกว่าค่า t จากตาราง คือ 2.744 แสดงว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน เรื่องบทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม สูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเท่ากับ 0.6030 หรือคิดเป็นร้อยละ 60.30
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต่อการจัดกิจกรรมตามแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ร่วมกับการใช้เกม เรื่อง บทประยุกต์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.18 ซึ่งแสดงว่านักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก