การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มที่พัฒนาโครงงานตามบทเรียนบูรณาการแบบ D2G กับคุณภาพโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มที่พัฒนาโครงงานตามรูปแบบปกติ และ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนกลุ่มพัฒนาด้วยบทเรียนบูรณาการแบบ D2G กับนักเรียนกลุ่มที่ใช้บทเรียนบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนพัฒนาโครงงานตามรูปแบบปกติ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วยบทเรียนบูรณาการแบบ D2G ได้แก่ ปีการศึกษา 2558 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 4 จำนวน 17 คน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 18 คน ปีการศึกษา 2559 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 15 คน และปีการศึกษา 2560 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 15 คน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่พัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตามรูปแบบปกติ ได้แก่
ปีการศึกษา 2558 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 17 คน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 17 คน ปีการศึกษา 2559 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 15 คน และ
ปีการศึกษา 2560 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 15 คน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เวลาที่ใช้ในการทดลองปีการศึกษาละ 40 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
ครั้งนี้ คือ บทเรียนบูรณาการแบบ D2G บทเรียนบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบประเมินคุณภาพของโครงงานวิทยาศาสตร์ ใช้แบบแผนการทดลองชนิดสองกลุ่มทดสอบก่อน และหลังการทดลอง two group pretest posttest design วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการทางสถิติ t-test แบบ dependent samples และแบบ independent samples
ผลการวิจัยพบว่า
1. คุณภาพของโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มที่พัฒนาด้วยบทเรียนบูรณาการแบบ D2G มีระดับคุณภาพสูงกว่าคุณภาพของโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มที่พัฒนาตามรูปแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
2. ผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เกิดจากการพัฒนาด้วยบทเรียนบูรณาการแบบ D2G หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. ผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังเรียนของนักเรียนที่พัฒนาด้วยบทเรียนบูรณาการแบบ D2G สูงกว่าหลังเรียนของนักเรียนที่พัฒนาด้วยรูปแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ 0.05