ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานด้วย AWK MODEL โรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4
ผู้ศึกษา นายกมลศักดิ์ ภูชมศรี
สถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การเรียนรู้แบบโครงงานช่วยพัฒนาการคิดขั้นสูงให้แก่นักเรียน เช่น คิดวิเคราะห์
คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา เป็นการจัดการเรียนรู้วิธีหนึ่ง ที่ตอบสนองต่อการค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานมุ่งหวังให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพในการนำความรู้ไปใช้เพื่อขยายความรู้ให้กว้างและลึกซึ้งและสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาครูโรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น อำเภอเวียงแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 4 ให้มีความรู้ และทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยดำเนินการตามหลักการวิจัยปฏิบัติการซึ่งมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติ ขั้นสังเกต และขั้นสะท้อนผล
ด้วย “AWK MODEL” กลุ่มผู้ร่วมศึกษาคือครูโรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น จำนวน 22 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ แบบสังเกตแบบมีส่วนร่วม จำนวน 3 ฉบับ
แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง จำนวน 3 ฉบับ และแบบประเมิน จำนวน 2 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์โดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) แล้วนำเสนอโดยการบรรยาย
ผลการศึกษา ปรากฏดังนี้
1. สภาพปัจจุบัน ปัญหาก่อนดำเนินการพัฒนา พบว่า ครูส่วนใหญ่ยังยึดวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเดิมยึดสอนตามแบบเรียนมากกว่ายึดเด็กเป็นสำคัญ เน้นการบรรยายเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงความสนใจ ความต้องการ ความถนัด และความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูใช้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไม่หลากหลาย ขาดการฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์เอาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
2. การดำเนินการพัฒนา ในวงรอบที่ 1 โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน จัดกิจกรรม PLC ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน แล้วดำเนินการนิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร โดยการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน และการประเมินโครงงาน เพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือครูในการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบโครงงานมากยิ่งขึ้น และสามารถนำความรู้ไปจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อยู่ในระดับดีมาก 5 คน อยู่ในระดับพอใช้ 17 คน
การดำเนินการพัฒนา ในวงรอบที่ 2 โดยใช้กิจกรรมการปรับปรุงพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน และกิจกรรมการปรับปรุงพัฒนาการเสนอผลงานโครงงาน ส่งผลให้ ครูสามารถพัฒนาการเขียนแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาการทำโครงงานได้อย่างถูกต้องและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริงบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน
3. ผลการพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน พบว่า
3.1 ครูมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ได้อย่างถูกต้องและเกิดความมั่นใจในการนำไปใช้สอนนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 ครูสามารถจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานได้อย่างถูกต้อง สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ได้เหมาะสมตามระดับชั้นและวัยของนักเรียน และสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
3.3 ครูสามารถจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้เรียนสามารถตั้งชื่อเรื่องที่จะทำโครงงาน ออกแบบโครงงาน ลงมือทำโครงงาน เขียนรายงาน นำเสนอโครงงานประเมินผลโครงงานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมเกิดประโยชน์ ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง
3.4 ผลงานโครงงานของนักเรียนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลในระดับต่างๆ เช่น ระดับภาคเหนือ และประเทศ
ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานของครูโรงเรียนอนุบาลเวียงก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 เป็นอย่างมาก ทำให้ครูได้รับความรู้ ความเข้าใจ และเกิดทักษะ มีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชนอย่างแท้จริง