การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบวัฏจักร การเรียนรู้ (4 MAT) 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบวัฏจักร การเรียนรู้ (4 MAT)
กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนบ้านโจด อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2 จำนวน 15 คน
รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรการปฏิบัติการวิจัย 2 วงจร เครื่องมือที่ใช้ ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการ ได้แก่ แผนการจัด การเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT)หน่วยการเรียนรู้ที่ 11 เรื่อง บทประยุกต์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 10 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ แบบสังเกตการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์นักเรียนและแบบทดสอบท้ายวงจร และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลประสิทธิภาพการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นแบบทดสอบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัด การเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องบทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
จัดการเรียนรู้ โดยใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการ คือ 1) การดำเนินการก่อนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้วิจัยได้ปฐมนิเทศผู้ช่วยวิจัยและนักเรียน แล้วทำการทดสอบก่อนเรียน (pre-test) กับกลุ่มเป้าหมาย 2) ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการรูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) ในวงจรปฏิบัติการ 2 วงจร และ 3) การดำเนินการหลังจัดการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) ครบทั้ง 2 วงจร แล้วทำการทดสอบหลังเรียน และสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) กับกลุ่มเป้าหมาย
การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ใช้สถิติคือค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบค่าที (t-test for dependent sample) และสรุปความเรียง
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการจัดกิจกรรม พบว่า เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ผู้เรียนสามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง ผู้เรียน มีความสุขและกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี มีทักษะกระบวนการทำงานกลุ่ม นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์กล้าแสดงออก แสดงความคิดเห็นได้เหมาะสมตามศักยภาพ มีทักษะในการสื่อสารและรู้จักการทำงานอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหา การพัฒนาคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์นำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบ วัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการจัดการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยคิดเป็น ร้อยละ 78.00 ของคะแนนเต็ม ซึ่งสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนการจัดการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 24.22 ของคะแนนเต็ม โดยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) โดยรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด