อาทิตยา ศรีสุวรรณ. (2560). การประเมินโครงการการพัฒนาการใช้กระบวนการแนะแนว
เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียนเทศบาล ๑ (ถนนภูผาภักดี)
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการการพัฒนาการใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
ยาเสพติดในโรงเรียนเทศบาล ๑ (ถนนภูผาภักดี) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความสอดคล้องและความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมของผู้รับผิดชอบโครงการความพร้อมของสถานที่ ความเพียงพอของงบประมาณ และความเหมาะสมของปัจจัยในการดำเนินงาน ประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการวางแผน การมีส่วนร่วมพัฒนากระบวนการแนะแนว การมีส่วนร่วมในการใช้กระบวนการแนะแนวของนักเรียน ครู และการนิเทศติดตามโครงการ ประเมินผลผลิตของโครงการ เกี่ยวกับปริมาณของกระบวนการแนะแนวที่ได้รับการพัฒนา ทักษะการใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทักษะการใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อจัดการเรียนการสอนของครู ผลค่านิยม และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง
ที่มีต่อโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ นักเรียน ครูและผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 245 คน ประกอบด้วยนักเรียน จำนวน 118 คน ครู จำนวน 15 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 112 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดมาตราประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 7 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินโครงการสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมินโดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ปัจจัยนำเข้าผลผลิต บริบท และกระบวนการ ซึ่งผลการประเมินรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบท โดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ
ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ และความสอดคล้องของวัตถุประสงค์
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ความเพียงพอของงบประมาณโครงการ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 100 และผ่านเกณฑ์การประเมิน ความพร้อมของอาคารสถานที่จัดกิจกรรม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน และความเหมาะสมของปัจจัยในการดำเนินงาน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินกระบวนการ โดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การมีส่วนร่วมของนักเรียน เกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินงานในการพัฒนากระบวนการแนะแนวและการใช้กระบวนการแนะแนว
ในโรงเรียน การนิเทศติดตามโครงการ และการมีส่วนร่วมของครู เกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินงานพัฒนากระบวนการแนะแนวและการใช้กระบวนการแนะแนวในโรงเรียน
4. ผลการประเมินผลผลิต โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ปริมาณของกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนา หลากหลายตามความต้องการของนักเรียน ครูและผู้ปกครองนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 86.97
ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทักษะการใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีความเหมาะสมในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน ทักษะการใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อจัดการเรียนการสอน มีความเหมาะสมในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน ผลค่านิยมและพฤติกรรมของนักเรียน มีค่าเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 75.67 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ความพึงพอใจ ของผู้เกี่ยวข้อง โดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัดย่อย พบว่า ทุกตัวชี้วัดย่อยมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน ความพึงพอใจของครู และความพึงพอใจของนักเรียน
ข้อเสนอแนะ
การพัฒนากระบวนการแนะแนว เป็นภารกิจหลักที่สถานศึกษาต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น จากผลการประเมินโครงการพัฒนาการใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโรงเรียนเทศบาล ๑
(ถนนภูผาภักดี) พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน จึงควรดำเนินโครงการนี้ต่อไป และผู้เกี่ยวข้อง ควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ดังนี้
1. การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจะเป็นเข็มทิศชี้นำการปฏิบัติให้ไปสู่ความสำเร็จได้ดี จึงควรกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการใช้กระบวนการแนะแนวในโรงเรียน ให้มีความหลากหลายตามความต้องการของนักเรียน ครูและผู้ปกครองนักเรียน และควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการแนะแนวภายในโรงเรียนให้มากขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักในการร่วมมือพัฒนากระบวนการแนะแนวภายในโรงเรียนเป็นการตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของนักเรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียนอย่างแท้จริง
2. ปัจจัยที่ใช้ในการดำเนินงาน เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้ไปสู่ความสำเร็จ ควรสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยี ที่ต้องใช้ในการดำเนินโครงการให้เหมาะสมกับการทำกิจกรรม และควรพัฒนาบุคลากรผู้รับผิดชอบให้พร้อมก่อนที่จะปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และควรร่วมกันจัดเตรียมสถานที่ภายในอาคารให้พร้อมและเพียงพอ เพื่อให้การจัดกิจกรรมการพัฒนาการใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในโรงเรียนเกิดประสิทธิผลสูงสุด
3. การปฏิบัติงานตามกิจกรรมของโครงการพัฒนาการใช้กระบวนการแนะแนว มีหลายกิจกรรมที่ต้องอาศัยผู้ปฏิบัติที่มีความรู้และทักษะเฉพาะด้าน เช่น การเข้าค่ายเยาวชนคนดีมีคุณค่า
จึงควรให้ผู้รับผิดชอบโครงการ และครูที่มีความสามารถเป็นวิทยากรพิเศษ และควรสนับสนุนให้ครู นักเรียน มีโอกาสใช้สื่อและนวัตกรรมต่าง ๆ ในกระบวนการแนะแนวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งควรสนับสนุนให้มีการประสานการปฏิบัติงานระหว่างผู้รับผิดชอบโครงการ ครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินโครงการกระบวนการแนะแนว ดำเนินไปได้อย่างคล่องตัวไม่ติดขัด บรรลุผลตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ผลผลิตของโครงการ คือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ จากผลการประเมินโครงการพัฒนาการใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้านผลผลิต พบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อค่านิยมและพฤติกรรมที่พึงประสงค์มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด จึงควรดำเนินการเร่งรัดให้ครูพัฒนาการเรียนการสอนโดยการใช้กระบวนการแนะแนวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและเกิดประสิทธิภาพ เพื่อส่งผลให้นักเรียนมีค่านิยมและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่สูงขึ้น เป็นการสร้างความพึงพอใจแก่นักเรียน ครู ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง และควรจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียน ได้เรียนรู้ค่านิยมและพฤติกรรมที่พึงประสงค์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามศักยภาพ ด้วยสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างความพึงพอใจแก่นักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้องให้มากยิ่งขึ้น