บทคัดย่อ
การพัฒนาครั้งนี้ ใช้ระเบียบวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ของการพัฒนาดังนี้ 1)เพื่อศึกษาแนวคิดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ทฤษฎี หลักการและแนวทางการพัฒนาวิธีการสอน กระบวนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยการเล่นและเรียน เพื่อพัฒนาความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1โรงเรียนบ้านโจะโหวะ 2)เพื่อสร้างและตรวจสอบความเหมาะสมของวิธีการสอน กระบวนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนาความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโจะโหวะ 3)เพื่อทดลองใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนาความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโจะโหวะ และศึกษาผลการใช้ คือ (1) ศึกษาการพัฒนาความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เล่นและเรียนคณิตศาสตร์ (Play and Learn : 1P4Rs ) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้าน โจะโหวะ หลังการพัฒนา และ (2) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 เรื่องโจทย์ปัญหา โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เล่นและเรียนคณิตศาสตร์ (Play and Learn : 1P4Rs ) ให้นักเรียนมีผลการประเมินเฉลี่ยร้อยละ 70 ขึ้นไป และมีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 70 ขึ้นไป ก่อนและหลังการพัฒนากับเกณฑ์ที่กำหนด ขั้นตอนการดำเนินการพัฒนามี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาแนวคิดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ระยะที่ 2 การสร้างและตรวจสอบ ความเหมาะสมของกระบวนการจัดการเรียนรู้สาระคณิตศาสตร์ ระยะที่ 3 การทดลองใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เล่นและเรียนคณิตศาสตร์ (Play and Learn : 1P4Rs ) เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลการพัฒนา ได้แก่ 1) การวิเคราะห์เนื้อหา แนวคิด หลักการ และทฤษฎี 2)แบบวัดความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ 3)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหา กลุ่มตัวอย่างในการพัฒนาได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโจะโหวะ จำนวน 15 คน ปีการศึกษา 2559 สถิติการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการพัฒนา พบว่า
1. ผลการศึกษาแนวคิดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สรุปประเด็นสำคัญได้ว่า
1.1 ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ควรมุ่ง
ฝึกฝนพัฒนาให้ผู้เรียนได้เกิดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา มีความคิด ให้เหตุผลเป็น อ่านและสื่อความหมายได้
1.2 ผู้สอนต้องให้โอกาสผู้เรียนได้ฝึกคิดด้วยตนเองให้มาก โดยจัดสถานการณ์หรือปัญหาหรือเกมที่น่าสนใจ ท้าทาย ให้อยากคิด เพื่อให้ผู้เรียนทำความเข้าใจปัญหา วิเคราะห์ปัญหา,วางแผนแก้ปัญหา,ดำเนินการแก้ปัญหา ตรวจสอบคำตอบได้ ซึ่งเป็นการฝึกทักษะในการให้เหตุผล และแสดงความคิดเห็นด้วยตนเอง ในการสื่อสาร สื่อความหมาย และการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง
1.3 สอนโดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวใช้ของจริงให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และชีวิตจริง และครูต้องทบทวนความรู้เดิมก่อนสอนเนื้อหาใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมเรียนรู้จากของจริง ของจำลอง รูปภาพ และนำไปสู่สัญลักษณ์ โดยครูต้องกระตุ้นใช้คำถามเพื่อพัฒนาการคิด การแก้ปัญหา ฝึกคิดไปตามลำดับขั้น อย่างมีเหตุผล และ ให้นักเรียนแก้ปัญหา ค้นพบหลักเกณฑ์ด้วยตนเอง
1.4 รูปแบบ ขั้นตอน กระบวนการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ที่สามารถทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เต็มใจ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนคณิตศาสตร์ จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการเรียนการสอนเกิดคุณสมบัติ เกิดทักษะ และเกิดกระบวนการได้ สิ่งนั้นคือ การสร้างกิจกรรมการเล่น สร้างเกมที่สอดคล้องกับเนื้อหาในบทเรียนเพื่อให้นักเรียนได้เล่น และเรียนรู้ไปด้วย พร้อมกันนี้จะช่วยสร้างเจตคติที่ดีในการเรียนคณิตศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง
1.5 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จึงสรุปได้ ดังนี้
1.5.1 ขั้นทบทวนความรู้เดิม
1.5.2 ขั้นสอนเนื้อหาใหม่
1.5.3 ขั้นสรุปนำไปสู่วิธีลัด
1.5.4 ขั้นฝึกทักษะ
1.5.5 ขั้นนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
1.5.6 ขั้นการประเมินผล
2. ผลการสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ได้ 5 ขั้น คือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ เล่นและเรียนคณิตศาสตร์ (Play and Learn : 1P4Rs )
ขั้นที่ 1 เล่น (Play) ครูจัดกิจกรรมมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เล่นสัมผัสจากของจริง สื่อต่างๆ เช่น ภาพประกอบ บัตรภาพ บัตรโจทย์ปัญหา และเกมต่างๆ
ขั้นที่ 2 ทบทวนความรู้เดิม (Learn to Review) ครูดำเนินการทบทวนความรู้เดิมก่อนนำเสนอการเรียนรู้เนื้อหาทางคณิตศาสตร์ใหม่
ขั้นที่ 3 ฝึกอ่าน (Learn to Read ) ครูดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้นักเรียนฝึกอ่านตีความโจทย์ ฝึกอ่านแปลความโจทย์ และฝึกอ่านวิเคราะห์โจทย์
ขั้นที่ 4 ฝึกคิด (Learn to Rethink) ครูดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยให้นักเรียนได้ฝึกคิดการแก้ปัญหาโจทย์ ฝึกคิดการให้เหตุผล และฝึกการคิดการสื่อสาร ฝึกสื่อความหมาย ฝึกการนำเสนอข้อมูลทางคณิตศาสตร์
ขั้นที่ 5 ฝึกสรุปผลลัพธ์ (Learn to Result) ครูดำเนินการฝึกให้นักเรียนสรุปผลลัพธ์ ฝึกการหาข้อสรุป และฝึกตรวจหาคำตอบที่ถูกต้อง
3. ผลการทดลองใช้ ปรากฏว่า
3.1 ความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถม
ศึกษาปีที่ 1 จากการวัดด้วยเครื่องมือแบบเลือกตอบ,แบบอัตนัย ,ตรวจงานจากแบบฝึกหัดและการสังเกตพฤติกรรมระหว่างเรียนและหลังการพัฒนา พบว่า 1)ด้านทักษะกระบวนการแก้ปัญหามีค่าเฉลี่ยร้อยละ 81.67, 70.00,และอยู่ในระดับดีและดีมาก ตามลำดับ 2)ด้านทักษะกระบวนการให้เหตุผลมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 63.33, 63.33,และอยู่ในระดับดีและดีมาก ตามลำดับและ3)ด้านทักษะการสื่อสาร สื่อความหมาย และการนำเสนอมีค่าเฉลี่ยร้อยละ70.43, 71.43,และอยู่ในระดับดีมากและดี ตามลำดับ
3.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เรื่องโจทย์ปัญหา หลังการพัฒนา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 70 ปรากฏว่า หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อยู่ในระดับดี ( %= 71.67)