รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนบ้านโนน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการใน 4 ด้าน คือ 1) ประเมินด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ 2) งานปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงานตามโครงการ 3) ด้านกระบวนการที่ใช้ในการดำเนินงานตามโครงการ และ
4) ด้านผลผลิตของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบซิปป์ (CIPP Model)
เป็นแนวทางในการประเมิน การศึกษาครั้งนี้โดยตรงกับประชากร ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารโครงการ จำนวน 6 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 จำนวน 41 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 จำนวน 41 คน โรงเรียนบ้านโนน รวมทั้งหมด จำนวน 88 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่ผู้รายงานสร้างขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูปสถิติที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ หาค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยภาพรวม มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากทุกด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม รองลงมา คือ ด้านผลผลิต ด้านกระบวนการ และด้านปัจจัยนำเข้า ตามลำดับ
2. การประเมินด้านสภาพแวดล้อม โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ โครงการมีความสอดคล้องกับแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียน รองลงมา คือ กิจกรรมตามโครงการจะช่วยสร้างนิสัยรักการอ่านที่ยั่งยืนให้แก่นักเรียน และเป้าหมายของโครงการที่ดำเนินการกับนักเรียนทุกระดับชั้นและทุกคน ตามลำดับ
3. การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ บุคลากรให้ความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ รองลงมา คือ บุคลากรมีความรู้ ความสามารถในการดำเนินโครงการ และสถานที่ในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ตามลำดับ
4. การประเมินด้านกระบวนการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบงานชัดเจน รองลงมา คือ ใช้เทคนิควิธีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย และวิธีดำเนินการตามโครงการมีความชัดเจนและมีความยืดหยุ่น ตามลำดับ
5. การประเมินด้านผลผลิต โดยภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ นักเรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รองลงมา คือ นักเรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการอ่าน และนักเรียนรับรู้และเห็นความสำคัญของการอ่าน ตามลำดับ