การประเมินการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา)
ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ จังหวัดพิษณุโลก
นางสาวอารีรัตน์ ชูรวง
บทคัดย่อ
การประเมินการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้รูปแบบการประเมินรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน 1)เพื่อประเมินบริบทของการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ จังหวัดพิษณุโลก 2)เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ จังหวัดพิษณุโลก 3) เพื่อประเมินกระบวนการของการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ จังหวัดพิษณุโลก และ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ จังหวัดพิษณุโลก ประชากรที่ใช้ในการประเมินเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา จำนวน 202 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถาม และเอกสารหลักฐานทางการศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ จำนวน (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าระดับการประเมินและเกณฑ์การประเมินตามกรอบแนวทางการประเมิน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมินพบว่า
ผลการประเมินการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยมีผลการประเมินเรียงตามลำดับ ดังนี้ ด้านบริบท ด้านผลผลิต ด้านกระบวนการ ด้านปัจจัยนำเข้า เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า
1. การประเมินบริบทของการจัดการศึกษา เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ และมีความเหมาะสมระดับมากที่สุด โดยการจัดการศึกษาเป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสที่มีความประสงค์จะเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายควบคู่กับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ การจัดการศึกษาเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอาชีวศึกษาแก่นักเรียนด้อยโอกาสตามความถนัดและความความสนใจ และการจัดการศึกษาสนับสนุน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต้นสังกัด และการจัดการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน
2. การประเมินปัจจัยนำเข้าของการจัดการศึกษา เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน เมื่อพิจารณาผลการประเมินรายด้าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ ตามลำดับ ดังนี้ 1)หลักสูตรสถานศึกษามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก 2)ครูผู้สอนมีความพร้อมอยู่ในระดับมาก 3) งบประมาณมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และ 4)สื่อและแหล่งเรียนรู้มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ
3. การประเมินกระบวนการของการจัดการศึกษา เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน เมื่อพิจารณาผลการประเมินรายด้าน พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ ตามลำดับ ดังนี้ 1)ด้านการจัดการศึกษามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และ 2)ด้านการจัดการเรียนการสอนมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
4. การประเมินผลผลิตของการจัดการศึกษา เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน เมื่อพิจารณาผลการประเมินรายด้าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อตามลำดับ ดังนี้ 1) นักเรียนมีคุณภาพตามหลักสูตร 2) นักเรียนทุกคนจบการศึกษาตามหลักสูตร
3) นักเรียนมีความพร้อมในการประกอบอาชีพอยู่ในระดับมาก และ 4) ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษามีความพึงพอใจการจัดการศึกษาอยู่ในระดับมาก
5. ด้านความคิดเห็นเพิ่มเติมของการจัดการศึกษา พบว่า 1) ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาประทับใจโรงเรียน ดังนี้ สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้รับการศึกษาทวิศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับ 2 วุฒิการศึกษา ทำให้นักเรียนมีโอกาสทางเลือกมากกว่าสายสามัญ สถานศึกษาเป็นที่ฝึกฝนทั้งด้านวิชาการ ฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนตามความสนใจ และให้โอกาสเด็กด้อยโอกาสได้มีการศึกษา การให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนและการติดต่อ ประสานงานสะดวกดีมาก ครูผู้ควบคุม ดูแลเอาใจใส่นักเรียนเป็นอย่างดี มีการรับส่งตรงเวลา มีแหล่งเรียนรู้ที่ดีมีคุณภาพ และครูจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพ 2) นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรสถานศึกษา ดังนี้ นักเรียนมีความรับผิดชอบ มีวินัย รู้จักจัดสรรเวลาในการเรียน มีมารยาทดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ซื่อสัตย์สุจริต และตรงต่อเวลา มีความรู้และมีทักษะทางวิชาชีพสามารถปฏิบัติงานอาชีพได้ตามวัตถุประสงค์รายวิชา มีทักษะในการประกอบอาชีพในสายงานที่เขาเลือกเรียน สามารถนำความรู้ทักษะที่ได้รับฝึกฝนไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ มีวินัยในการทำงาน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เหมาะสม และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้