ชื่องานวิจัย : การศึกษาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1
ชื่อผู้วิจัย : นายณรงค์ โพธิ
หน่วยงาน : สำนักงานศึกษาธิการภาค 1 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ปีที่ทำการวิจัย : 2559
----------------------------------
บทคัดย่อ/บทสรุปผู้บริหาร
การศึกษาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 โดยใช้วิธีการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารคู่มือ นโยบาย รายงานที่เกี่ยวข้อง การประชุมระดมสมองในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเอกสาร ศึกษานิเทศก์ (ST) พร้อมจัดทำเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล และ สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่ปรึกษากิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จากการดำเนินงานโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 หน่วยงานละ 1 โรงเรียน และนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะการพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า
1. จุดแข็งและจุดอ่อนของการดำเนินงานโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ดังนี้
1.1 จุดแข็งของโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
1) ด้านการบริหารจัดการโครงการ พบว่า แนวทางการดำเนินงานโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ มีการสร้างความเข้าใจในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติแก่ ครู และ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และโรงเรียนสามารถปรับตารางเรียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการได้ รวมทั้งมีการใช้สื่อที่โรงเรียนมีอยู่มาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้
2) ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ พบว่า โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคู่มือแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มุ่งเพิ่มพูนทักษะทั้ง 4 ด้าน (4H) ให้กับผู้เรียน โรงเรียนมีสื่อการเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ที่สนองต่อความสนใจของผู้เรียนสภาพแวดล้อม โรงเรียนมีการจัดแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการจัดกิจกรรมตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียน
3) ด้านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พบว่า การดำเนินกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ (ที่มีความพร้อม) ได้ให้ความร่วมมือกับโรงเรียนขนาดเล็ก (ที่ยังไม่มีความพร้อม) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และยังเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังใช้เครือข่ายของโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนจัดกิจกรรม เช่น ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน และหน่วยงานอื่น ๆ
4) ด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ พบว่า มีการออกนิเทศและติดตามการดำเนินงานและมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบ โดยมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างชัดเจน
1.2 จุดอ่อนของโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
1) ด้านการบริหารจัดการโครงการ พบว่า ความพร้อมของบุคลากรในการนำนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้สู่ปฏิบัติเป็นจุดด่อนของโครงการ เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ครู ครูบางส่วนมีทักษะไม่เพียงพอในการจัดกิจกรรมเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน ครูไม่มีการเชื่อมโยงหลักสูตรสู่การจัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผู้บริหารสถานศึกษาและครูมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของนโยบายฯ ศึกษานิเทศก์ และ Smart trainers มีพื้นฐานความรู้และความเข้าใจที่แตกต่างกัน จึงทำให้การดำเนินงานของโรงเรียนมีความแตกต่างกัน งบประมาณในการดำเนินงานของโรงเรียนขนาดเล็กไม่เพียงพอ
2) ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ พบว่า โรงเรียนมีจุดอ่อนในการดำเนินงานตามโครงการ คือ แผนการเรียนรู้ ความแตกต่างกันระหว่างอายุของผู้เรียน มีผลให้การจัดกิจกรรมและการบูรณาการความรู้ ไม่บรรลุตามเป้าหมายตามแผนแผนการเรียนรู้
3) ด้านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พบว่า โรงเรียนมีจุดอ่อนในการดำเนินงานตามโครงการ คือ การจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ส่งผลให้ผู้ปกครองวิตกกังวลว่าบุตรหลานจะเรียนรู้เนื้อหาทางวิชาการได้น้อยลง
4) ด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ พบว่า โรงเรียนมีจุดอ่อนในการดำเนินงานตามโครงการ คือ ด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ แนวทางการดำเนินงานโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ มีการติดตามผลการดำเนินงานจากหลายฝ่าย โดยใช้แบบประเมินหลายฉบับ ซึ่งมีรายละเอียดที่มากเกินไป ตลอดจนได้กำหนดระยะเวลาให้ดำเนินงานที่มีความกระชั้นชิดมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถรายงานข้อมูลได้ตรงตามรอบเวลาหลังจากการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ นอกจากนี้ พบว่า การติดตามภายในโรงเรียนยังขาดความต่อเนื่อง
2. แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1
จากการศึกษาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของการดำเนินงานโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึกการดำเนินงานของโรงเรียน ทั้ง 8 โรงเรียน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหารโรงเรียน (ผู้อำนวยการ หรือ รองผู้อำนวยการ) จำนวน 1 ท่าน 2) ครูที่ปรึกษากิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จำนวน 2 ท่าน และ 3) ข้อมูลสรุปในภาพรวมของการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ดังนี้
2.1 โรงเรียนอนุบาลบางกรวย (วัดศรีประวัติ) สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ best practices ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาสมอง (Head) ได้แก่ กิจกรรม BBL หรรษา กิจกรรมตะลุยสวนครัว กิจกรรมพัฒนาจิตใจ (Heart) ได้แก่ กิจกรรมวิถีพุทธ วิถีธรรม นำสู่ความพอเพียง กิจกรรมร้อง เต้น เล่นดนตรี กิจกรรมย้อนยุคปลูกค่านิยม กิจกรรมพัฒนาทักษะการปฏิบัติ/ทักษะชีวิต (Hand) ได้แก่ กิจกรรมหัตถศิลป์สร้างสรรค์ กิจกรรม Cookery กิจกรรมพัฒนาสุขภาพ (Health) ได้แก่ กิจกรรมกีฬาเป็นยาวิเศษ กิจกรรมการละเล่นเด็กไทย
ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) ปีการศึกษา 2558 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 47.49 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2557 ใน 5 กลุ่มสาระหลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ค่าเฉลี่ยร้อยละ 44.50 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.99 และสูงกว่าระดับประเทศ ค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.52 ด้านจำนวนนักเรียน ในปีการศึกษา 2558 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 522 คน ในปีการศึกษา 2559 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 571 คน เพิ่มขึ้น 49 คน ซึ่งถือว่าเป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคมที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่ให้บริการ ด้านการสนับสนุนจากชุมชน วัด บุคคลในภาครัฐและเอกชน มีส่วนเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานตามนโยบายฯ เช่น 1) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริจาคอุปกรณ์นันทนาการ เครื่องดนตรีไทย-สากล 2) อบจ.นนทบุรี จ้างครูชาวฟิลิปปินส์ มาสอนภาษาอังกฤษ 3) โรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า สนับสนุนอุปกรณ์กีฬา 4) คุณชูใจ กุศล ข้าราชการบำนาญ มาให้ความรู้ในกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อย 5) พระจากวัดศรีประวัติ มาให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาตามหลักสูตร ด้านนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) รายวิชา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.99
2.2 โรงเรียนบ้านหนองเพรางาย สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ best practices ได้แก่ กิจกรรมเวทีนักวิทยาศาสตร์น้อย กิจกรรรักการอ่าน กิจกรรทักษะชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรส่งเสริมความสามารถด้านภาษาอังกฤษ กิจกรรส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตามแนวทางโรงเรียนคุณธรรม
ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ ถ้วยรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ประเภททดลอง ระดับประถมศึกษา EGAT Science Project Contest ครั้งที่ 1 ประจำปี 2558 จาก นายสุนชัย คำนูญเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถ้วยรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา Stanley Science Project Contest ครั้งที่ 16 ประจำปีการศึกษา 2559 โดยโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานีร่วมกับมูลนิธิสแตนเลย์ เข้ารอบสุดท้ายระดับประเทศ โครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2559 หัวข้อ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชีวิต โดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ทรู ด้านนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) รายวิชา ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 4.89
2.3 โรงเรียนวัดเปรมประชากร สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ best practices ได้แก่ กิจกรรมสืบสานกานต์กวี กิจกรรมพุทธบูชา กิจกรรมเสกสรรงานศิลป์ กิจกรรมรวมพลคนรักกีฬา กิจกรรมมหัศจรรย์แห่งต้นไม้ เพื่อการเรียนรู้
ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ นักเรียนมีความสุขและความพึงพอใจในระดับดีมาก ครูมีความพึงพอใจในระดับดีมาก และ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) รายวิชา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 6.31
2.4 โรงเรียนธัญสิทธิศิลป์ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ best practices ได้แก่ กิจกรรมรักษ์ระนาด กิจกรรมโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า กิจกรรมทำเครื่องร่อน
ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ รางวัลเหรียญทองชนะเลิศ การแข่งขันเดี่ยวระนาดเอก ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 2 ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 65 รางวัลเหรียญทอง การแข่งขันเดี่ยวระนาดเอก ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 65 รางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันดนตรี SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 ด้านนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) รายวิชา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 6.19
2.5 โรงเรียนวัดใหญ่ชัยมลคล (ภาวนารังสี) สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ best practices ได้แก่ กิจกรรม English is Fun (HEAD) กิจกรรมภาพยนตร์สั้น (HEAD) กิจกรรม Art Therapy (HEAD) กิจกรรมชวนน้องท่องพุทธวจน (HEART) กิจกรรมนานาอาชีพ (HAND) กิจกรรมไหมพรหมวิเศษ (HAND) กิจกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (HAND) กิจกรรมดนตรีพาเพลิน (HAND)
ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนได้นิทรรศการ และนำเสนอการจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ นวัตกรรมการจัดการศึกษาที่เป็นเลิศของโรงเรียน 7 กิจกรรม ในงานมหกรรมการศึกษาอยุธยาสู่สากล โรงเรียนได้ร่วมสาธิตการจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จำนวน 3 กิจกรรม ในการประชุมการพัฒนา Core Smart Trainer ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซนทรา นนทบุรี โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมสาธิตการจัดกิจกรรมตามนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ เอกพล ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในงานนายกรัฐมนตรีพบเพื่อนครู ณ ชาเลนเจอร์ 1 เมืองทองธานี โรงเรียนได้รับเกียรติจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ให้เป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการขยายผลตามโครงการขับเคลื่อนนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้กับโรงเรียนที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 169 โรงเรียน ณ โรงแรมวรบุรี โรงเรียนได้ให้ความอนุเคราะห์โรงเรียนต่าง ๆ ในการเผยแพร่คู่มือการจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 205 คน มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของโรงเรียนภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 193 คน มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของโรงเรียนภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 219 คน มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของโรงเรียนภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ด้านนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) รายวิชา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.55
2.6 โรงเรียนวัดหญ้าไทร (ราษฎร์ประสิทธิ์) สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ best practices ได้แก่ กิจกรรมด้านพุทธิศึกษา คือ กิจกรรมแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กิจกรรมด้านจริยศึกษา คือ กิจกรรมเวทีธรรม สร้างคนดี กิจกรรมด้านหัตถศึกษา คือ กิจกรรมส่งเสริมทักษะการทำงานและทักษะงานอาชีพ กิจกรรมด้านพลศึกษา คือ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน นักเรียนได้รับการพัฒนาด้านพุทธิศึกษา ด้านจริยศึกษา ด้านหัตถศึกษาและพลศึกษา นักเรียนมีทักษะในการทำงาน พัฒนาตนเองตามความสนใจและความถนัด และมีความสุขกับการเรียนรู้
ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) รายวิชา ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นค่าเฉลี่ย
ร้อยละ 5.08
2.7 โรงเรียนวัดโนนสภาราม (นารถ วาจาวุทธ อุปถัมภ์) สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ best practices ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาสมอง คือ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านการเรียน โดยการเรียนเสริม 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 , 6 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้จะดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ วิดีทัศน์ แบบฝึกทักษะ เกม ชุดการสอนเสริม เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถในการเข้าสอบระดับชาติและการศึกษาต่อ กิจกรรมพัฒนาจิตใจ คือ กิจกรรมนักเกษตรน้อย กิจกรรมนักเกษตรน้อย เป็นกิจกรรมระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 เชื่อมโยงกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ได้น้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผ่านการรับรองเป็นโรงเรียนต้นแบบ และกำลังพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ในปีการศึกษา 2559 เป็นการสอนให้นักเรียนปลูกผักปลอดสารพิษ พืชผักสวนครัวทั่วไป ฝึกนักเรียนให้จัดจำหน่ายมีรายได้เสริม และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และการดำรงชีวิตในครอบครัว กิจกรรมพัฒนาทักษะการปฏิบัติ/ทักษะชีวิต คือ กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์เพื่อชีวิต เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลายที่นักเรียนให้ความสนใจ เช่น การแปรรูปอาหาร การประกอบอาหารในรูปแบบต่าง ๆ งานประดิษฐ์ของใช้ ของเล่น จากวัสดุธรรมชาติ วัสดุเหลือใช้ และ เศษวัสดุ นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการใช้สอยอย่างคุ้มค่า นักเรียนเกิดทักษะการพัฒนาได้นำวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในห้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นของใช้ ซึ่งนำไปสู่การประกวดในหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ และต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เป็นกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ได้ในทุกระดับชั้น กิจกรรมพัฒนาสุขภาพ คือ กิจกรรมศิลปะการป้องกันตัว และ กิจกรรมเทควันโด จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา และสาระเพิ่มเติมในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มีนักเรียนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้นักเรียนมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ และได้นำเสนอผลงานต่อสาธารณชนในการแข่งขันกีฬาในระดับจังหวัด เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและชุมชน
ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับชาติ กิจกรรมการแข่งขันการประดิษฐ์ของใช้จากเศษวัสดุเหลือใช้ ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ระดับชั้น ป.1 - ป.6 รางวัลระดับเหรียญทองแดง ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมการสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น (2D Animation) ระดับชั้น ม.1 - ม.3 รางวัลเหรียญทอง รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมการแข่งขันการประดิษฐ์ของใช้จากเศษวัสดุเหลือใช้ ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ระดับชั้น ป.1 - ป.6 รางวัลเหรียญทอง ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมการแข่งขันแปรรูปอาหาร ระดับชั้น ม.1 - ม.3 รางวัลเหรียญทอง ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมการแข่งขันการทำอาหาร ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ระดับชั้น ป.1 - ป.6 รางวัลเหรียญทอง ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมการแข่งขันการทำอาหาร ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ระดับชั้น ป.1 - ป.6 รางวัลเหรียญทอง ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมวาดภาพระบายสี ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ระดับชั้น ม.1 - ม.3 รางวัลเหรียญเงิน ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมวาดภาพระบายสี ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ระดับชั้น ม.1 - ม.3 รางวัลเหรียญเงิน ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมวาดภาพระบายสี ประเภทนักเรียนที่ออทิสติก ระดับชั้น ม.1 - ม.3 เข้ารอบในระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ประเภทนักเรียนออทิสติก ระดับชั้น ป.1 - ป.6 รางวัลเหรียญทองแดง ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก กิจกรรมขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ประเภทนักเรียนออทิสติก ระดับชั้น ม.1 - ม.3 เข้าร่วมจัดนิทรรศการโครงการขับเคลื่อนนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2559 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) รายวิชา สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 5.63
2.8 โรงเรียนชุมชนวัดคลองไทร (ฉัตรราษฎร์บำรุง) สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 2 มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ best practices ได้แก่ กิจกรรมอัจฉริยภาพสร้างได้ กิจกรรมตามรอยเท้าพ่อ อยู่อย่างพอเพียง
ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ได้แก่ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET) รายวิชา ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 6.46
2.9 ระดับความพึงพอใจต่อความสำเร็จของการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
1) ผู้บริหารโรงเรียน : โดยค่าเฉลี่ยในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X-bar = 3.90 , S.D. = 0.16) แสดงว่า รูปแบบการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนมีความเหมาะสมและสามารถทำให้นักเรียนมีความสุข มีความรู้ มีทักษะ และมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันได้
2) ครูที่ปรึกษากิจกรรม ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ : โดยค่าเฉลี่ยในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X-bar = 3.64 , S.D. = 0.25) แสดงว่า รูปแบบการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนมีความเหมาะสมและสามารถทำให้นักเรียนมีความสุขมีความรู้ มีทักษะ และมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันได้
3. ข้อเสนอแนวจากการศึกษา
3.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเชื่อมโยงสอดรับกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
3.2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและโรงเรียนควรพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา ศูนย์สารสนเทศ ให้มีคุณภาพและทั่วถึงเพื่อสนับสนุนให้นักเรียนมีแหล่งค้นคว้าความรู้ และสถานที่ทำกิจกรรมที่เหมาะสมและมีคุณภาพ
3.3 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ควรรวบรวมกิจกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีหรือที่มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) เป็นรูปเล่ม และเผยแพร่ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ พร้อมนำเสนอผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้มาศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
3.4 โรงเรียนควรประสานความร่วมมือกับวิทยากรท้องถิ่น หรือปราชญ์ท้องถิ่นมาช่วยจัดกิจกรรมบางเรื่องของโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ครูขาดความชำนาญ หรือขาดครู
3.5 โรงเรียนควรจัดกิจกรรมเสริมทักษะที่เน้นการปฏิบัติของนักเรียน โดยคำนึงถึง การมีส่วนรวม ความสนใจ และความสมัครใจของนักเรียนเป็นหลัก
3.6 โรงเรียนที่เป็นแบบอย่างที่ดีหรือที่มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ในการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของโรงเรียน