ผลงานทางวิชาการ
เรื่อง การบริหารการจัดการเรียนร่วมของโรงเรียนวัดทัศนารุณสุนทริการาม สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
ผู้วิจัย
นางศิริพร วรินทร์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา
โรงเรียนวัดทัศนารุณสุนทริการาม สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับการบริหารการจัดการเรียนร่วมของโรงเรียน วัดทัศนารุณสุนทริการาม สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครและเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะการบริหารการจัดการเรียนร่วมของโรงเรียนวัดทัศนารุณสุนทริการาม สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครโดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากร คือ ครูและผู้ปกครองนักเรียนมีความต้องการพิเศษ ของโรงเรียนวัดทัศนารุณสุนทริการาม สำนักงานเขตราชเทวี สังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามระดับการบริหารการจัดการเรียนร่วมของโรงเรียน วัดทัศนารุณสุนทริการาม สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และข้อเสนอแนะในการพัฒนาการบริหารการจัดการเรียนร่วมของโรงเรียนวัดทัศนารุณสุนทริการาม สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1.ระดับการบริหารการจัดการเรียนร่วมโรงเรียนวัดทัศนารุณสุนทริการาม สำนักงานเขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร ตามโครงสร้างซีท (SEAT Framework) ตามความคิดเห็นของครูและผู้ปกครองนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือด้านสิ่งแวดล้อม (E:Environment) รองลงมาคือ ด้านเครื่องมือ (T:Tool) ด้านนักเรียน (S:Students) และด้านกิจกรรมการเรียนการสอน (A:Activities) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า
1.1.ด้านนักเรียน (S:Students) ระดับการบริหารการจัดการเรียนร่วม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่ามีข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ กับนักเรียนปกติ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด โรงเรียนมีการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและการช่วยเหลือตนเองสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ข้อเสนอแนะในการบริหารการจัดการเรียนร่วมที่มีคะแนนความถี่สูงสุด คือ ควรฝึกนักเรียนพิการให้มีสมาธินานขึ้น โดยใช้กิจกรรมดนตรี ศิลปะ กีฬา สร้างความรู้ความเข้าใจของเด็กปกติและบุคลากรในโรงเรียนให้เข้าใจและยอมรับเด็กที่มีความบกพร่อง มีการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับนักเรียน ทำการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ และมีระบบเพื่อนช่วยเพื่อน โดยให้นักเรียนปกติและนักเรียนที่มีความบกพร่อง ได้ดูแลซึ่งกันและกัน
1.2.ด้านสิ่งแวดล้อม (E:Environment) ระดับการบริหารการจัดการเรียนร่วม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่ามีข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โรงเรียนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรียนร่วม ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ผู้ปกครองนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น ข้อเสนอแนะในการบริหารการจัดการเรียนร่วมที่มีคะแนนความถี่สูงสุด คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดูแลนักเรียนพิการเรียนร่วม ทุกภาคส่วน เช่น ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน ครู ผู้บริหารสถานศึกษาและนักเรียนปกติที่ร่วมชั้น
1.3.ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน (A:Activities) ระดับการบริหารการจัดการเรียนร่วม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่ามีข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และกิจกรรมพัฒนานักเรียนที่มีความต้องการพิเศษนอกห้องเรียนและในชุมชน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากัน 2 ข้อ คือ ครูมีการสอนซ่อมเสริมให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ และผู้บริหารจัดให้มีคณะทำงานนิเทศ ติดตาม วัดผลและประเมินผลการจัดการเรียนร่วมอย่างเป็นระบบ ข้อเสนอแนะในการบริหารการจัดการเรียนร่วมที่มีคะแนนความถี่สูงสุด คือ ควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนและพัฒนานักเรียนกลุ่มที่เรียนอ่อนเป็นพิเศษ
1.4.ด้านเครื่องมือ (T:Tool) ระดับการบริหารการจัดการเรียนร่วม ในภาพรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณารายข้อ พบว่ามีข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้รับสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากัน 2 ข้อ คือโรงเรียนมีการพัฒนาบุคลากรในโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษให้เพียงพอและมีคุณภาพ และโรงเรียนมีการจัดทำระบบข้อมูลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ บุคลากร สื่อ ฯลฯ ของโครงการเรียนร่วม ข้อเสนอแนะในการบริหารการจัดการเรียนร่วมที่มีคะแนนความถี่สูงสุด คือ จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับนักเรียนเรียนร่วม