ชื่อผู้ศึกษา นางสาวบุศรา ยกล้วน
ครู วิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนวัดแดง จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3
ปีที่รายงาน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
รายงานการพัฒนาชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุรอบตัวแรงและการเคลื่อนที่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนา ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุรอบตัว แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังเรียนชุดกิจกรรม วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุรอบตัว แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (3)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อ ชุดกิจกรรม วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุรอบตัว แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประชากร เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 3 โรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 คือ โรงเรียนวัดพระบาท จำนวน 3 คน โรงเรียนบ้านดอนโรงมิตรภาพ 196 จำนวน 10 คน และโรงเรียนบ้านบางพระ จำนวน 30 คน จำนวน 43 คน กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนวัดแดง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครศรีธรรมราช เขต 3 จำนวน 25 คน ได้มาโดยการเลือกแบบจำเพาะเจาะจง เครื่องมือ ที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญหาค่า IOC แล้ว 1 ฉบับ แบบสอบถามวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรม วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุรอบตัว แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้รายงานเป็นผู้สอนด้วยตนเองดำเนินการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ใช้เวลาจำนวน 20 ชั่วโมง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วยสถิติพื้นฐาน โดยการหาค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติที่ใช้ในการตรวจสอบเครื่องมือได้แก่ การหาค่าความเที่ยงตรงของเครื่องมือ โดยการคำนวณค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) หาค่าความยากง่าย( P) ค่าอำนาจจำแนก (r) และค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ โดยใช้สูตรของโลเวท ค่าประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม โดยการหาค่า E1 และ E2 และสถิติที่ใช้ตรวจสอบสมมติฐานโดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน และหลังเรียนของนักเรียน ด้วยการทดสอบที (t-Test)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการพัฒนา ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุรอบตัวแรงและการเคลื่อนที่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 4 ชุด มีประสิทธิภาพ แบบ 1 : 1 เท่ากับ 80.08/78.89 แบบ 1 : 10 เท่ากับ 81.08/80.33 และ แบบ 1 : 100 เท่ากับ 82.81/83.77 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนโดยใช้ ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุรอบตัว แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าก่อนเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุรอบตัว แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อยู่ในระดับมากที่สุด