บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : ผลการจัดประสบการณ์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐาน
ทางคณิตศาสตร์ ชั้นอนุบาลปีที่ 1
ชื่อผู้รายงาน : นายเดชวิทย์ ศรีสังวาลย์
ปีที่ทำการศึกษา : พ.ศ. 2560
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาระดับทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็ก
ปฐมวัย เพื่อเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา และศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการจัดประสบการณ์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนปราสาททองวิทยา จำนวน 21 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 1 ห้องเรียน
เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนา
ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ จำนวน 40 แผน แบบประเมินทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ ที่มีค่าอำนาจจำแนก (r) 0.25 ถึง 0.75 ค่าความยากง่าย (P) ตั้งแต่ 0.20 ถึง 0.80
ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ 0.96 และแบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจต่อการจัดประสบการณ์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ แบบแผน
การวิจัยเชิงทดลอง แบบ One group Pretest Posttest Design และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ t test for dependent samples
ผลการศึกษาพบว่า
1. ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการจัดประสบการณ์
ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย โดยภาพรวม พบว่า ระดับทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยรวมก่อนการทดลองอยู่ในระดับพอใช้ แต่หลัง
การทดลองอยู่ในระดับดีมาก ซึ่งก่อนการทดลองมีทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์อยู่ในระดับพอใช้
ทุกคนและหลังการทดลองอยู่ในระดับดีมาก จำนวน 19 คน และอยู่ในระดับดี จำนวน 2 คน
2. การเปรียบเทียบระดับทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลัง
การจัดประสบการณ์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา พบว่าเด็กปฐมวัยมีการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ คือ ด้านการจำแนกเปรียบเทียบ ด้านการจัดหมวดหมู่ ด้านการเรียงลำดับ
และด้านการรู้ค่าจำนวน แตกต่างจากก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
และทุกทักษะมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น
3. ความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยต่อการจัดประสบการณ์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา
เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมากและมีความพึงพอใจเป็นรายข้อ จำนวน 6 ข้อ อยู่ในระดับมาก โดยมีข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 4 อันดับ คือ สามารถกระตุ้นและเร้าความสนใจแก่เด็ก วิธีการฝึกปฏิบัติเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สนองความต้องการและความสนใจของเด็ก สื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีความเหมาะสม และมีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง คือ การทำงาน/กิจกรรมกลุ่ม ระยะเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เหมาะสม