ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมคณิตศาสตร์
แบบลงมือกระทำ (Active learning) สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1
โรงเรียนราษฎร์พัฒนา
ผู้วิจัย นางสาวทองศรี ใบพลูทอง
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์
ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมคณิตศาสตร์แบบลงมือกระทำ (Active learning) 2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของกิจกรรมคณิตศาสตร์แบบลงมือกระทำ (Active learning) เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1
โรงเรียนราษฎร์พัฒนา
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) ซึ่งใช้กลุ่มทดลอง
กลุ่มเดียว มีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนในรูปแบบที่เรียกว่า One Group Pretest Posttest Design ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กหญิง เด็กชาย ที่มีอายุระหว่างอายุ 4 - 5 ปี กำลังเรียนอยู่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1/2 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559
โรงเรียนราษฎร์พัฒนา ตำบลพระแก้ว อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3 จำนวน 20 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) กิจกรรมคณิตศาสตร์แบบลงมือกระทำ (Active learning) เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1
โรงเรียนราษฎร์พัฒนา 2) คู่มือการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมคณิตศาสตร์แบบลงมือกระทำ (Active learning) สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนราษฎร์พัฒนา 3) แบบประเมินความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 25 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการคำนวณหาค่าเฉลี่ย ( ) ร้อยละ (P) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t - test) แบบ Dependent Sample และค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 หลังการจัดกิจกรรมคณิตศาสตร์แบบลงมือกระทำ (Active learning) สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญ
ทางสถิติที่ระดับ .05
2. กิจกรรมคณิตศาสตร์แบบลงมือกระทำ (Active learning) เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐาน
ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนราษฎร์พัฒนา มีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.7386 หมายความว่า กิจกรรมคณิตศาสตร์แบบลงมือกระทำ (Active learning)
เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ทำให้เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีความก้าวหน้าในการเรียนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 73.86