หัวข้องานวิจัย การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย โสภานิต เบ็ญจวิไลกุล
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เรื่อง เกษตรพอเพียง สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ คือ
1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 3) เพื่อทดลองใช้หลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในด้านความรู้ความเข้าใจ เรื่องเกษตรพอเพียง ทักษะกระบวนการทำงาน คุณลักษณะที่พึงประสงค์ และความคิดเห็นที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดไทรอารีรักษ์ (มณีวิทยา) จำนวน 111 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ความต้องการในการพัฒนาหลักสูตรของผู้บริหารโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้าน แบบสอบถามผู้ปกครอง และนักเรียน และประเด็นการสนทนากลุ่ม 2) เครื่องมือในการประเมินผลหลักสูตร ได้แก่ แบบทดสอบหลังเรียน แบบประเมินผลงานภาคปฏิบัติ แบบประเมินทักษะกระบวนการ และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ (%) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า นักเรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง เพื่อให้นักเรียน มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเกษตรพอเพียงและสามารถนำวิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ โดยการเชิญผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมสอนกับครู และพานักเรียนไปศึกษานอกสถานศึกษาด้วย เนื้อหาที่สอนควรประกอบด้วยภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในเรื่องงานเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตปกติ เช่น ประโยชน์ของเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง การทำปุ๋ยชีวภาพจากวัสดุใกล้ ๆ ตัว การปลูกพืช ปลอดสารพิษ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้สื่อการเรียนรู้จากของจริง ใบความรู้ วีซีดี โปสเตอร์ หนังสือ และเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ใช้วิธีการวัดผลจากการทดสอบ ประเมินผลงาน/ชิ้นงาน สังเกตพฤติกรรมการทำงาน และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยนักเรียน เพื่อน ครู และผู้รู้ ร่วมกันประเมินตามสภาพจริง
2. ผลการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า ผลการกำหนดหลักสูตรฉบับร่างประกอบด้วย หลักการ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง คำอธิบายรายวิชา การจัดเวลาเรียน สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ แนวการจัด การเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 8 แผน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้ 6 หน่วย คือ หน่วยที่ 1 พอดีและพอเพียง หน่วยที่ 2 ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม หน่วยที่ 3 ผักสวนครัวในภาชนะ หน่วยที่ 4 เกษตรอินทรีย์ หน่วยที่ 5 การทำปุ๋ยจากขยะย่อยสลายได้ และหน่วยที่ 6 มาปลูกผักสวนครัวกันเถอะ และพบว่า หลักสูตรฉบับร่างมีค่าดัชนี ความสอดคล้องเท่ากับ 1.00
3. ผลการทดลองใช้หลักสูตร โดยนำหลักสูตรสถานศึกษา เรื่องเกษตรพอเพียงไปทดลองกับนักเรียน ดำเนินการจัดกิจกรรมเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 8 แผน ซึ่งผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้าน ครูผู้สอน และผู้วิจัย ร่วมกันดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรม การเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนในแต่ละหน่วย ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจเรื่องเกษตรพอเพียง รู้จักการวางแผนการทำงาน ทำงานตามขั้นตอนในเวลาที่กำหนด และรายงานผลหน้าชั้นเรียนได้
4. ผลการประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตร พบว่า นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ เรื่องเกษตรพอเพียงอยู่ในเกณฑ์ดีมาก จำนวน 98 คน คิดเป็นร้อยละ 88.29 อยู่ในเกณฑ์ดี จำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 11.71 ทักษะกระบวนการทำงาน ด้านการทำงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างเป็นขั้นตอน ด้วยความขยัน อดทนรับผิดชอบและซื่อสัตย์ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ด้านการมีทักษะกระบวนการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และปฏิบัติตนอย่างมีมารยาทในการทำงาน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก ด้านความสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก และด้านการมีทักษะกระบวนการกลุ่ม ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก การประเมินผลงานภาคปฏิบัติ ด้านผลงานตรงกับจุดประสงค์ที่กำหนด ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ด้านผลงานมีความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ด้านผลงานแสดงถึงความละเอียด รอบคอบ และเอาใจใส่ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี และด้านผลงานมีความเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก การประเมินผลด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนจากการประเมินร่วมกันระหว่าง นักเรียน ครู และผู้รู้ พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก และนักเรียนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรสถานศึกษาเรื่องเกษตรพอเพียง