บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านจ้อง
ชื่อผู้ประเมิน : นายแมนสรวง แซ่ซิ้ม
ปีการศึกษา : 2559
การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านจ้องในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านจ้อง ในด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP (CIPP Model) ของ Daniel L.Stufflebeam เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน คือ แบบสอบถามจำนวน 5 ฉบับ ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการในครั้งนี้ ได้แก่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนบ้านจ้อง จำนวน 20 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านจ้อง โดยเลือกแบบเจาะจง ยกเว้นผู้บริหารและครูที่เป็นตัวแทนในคณะกรรมการ ได้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านจ้อง ปีการศึกษา 2559 จำนวน 328 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 361 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) สรุปผลการประเมินโครงการในครั้งนี้ สรุปผลการประเมินโดยภาพรวมของการดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านจ้อง ทั้งด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต มีความเหมาะสมและมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า รายการที่มีความเหมาะสมและการปฏิบัติในระดับมากที่สุด คือ ด้านปัจจัยเบื้องต้น มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ด้านบริบท มีความเหมาะสมและการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต มีความเหมาะสมและการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก และพิจารณาสรุปในแต่ละด้านดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า การดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านจ้อง โดยภาพรวมด้านบริบท มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า การจัดบรรยากาศในโรงเรียนเอื้อต่อการดำเนินโครงการ และโครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และรายการอื่นๆ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น พบว่า การดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านจ้อง โดยภาพรวมด้านปัจจัยเบื้องต้น มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า รายการที่มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนินกิจกรรมของโครงการ โรงเรียนมีการจัดทำแผนการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการดำเนินโครงการ การให้การสนับสนุนช่วยเหลือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ ส่วนรายการอื่นๆ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า การดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านจ้อง โดยภาพรวมด้านกระบวนการ มีความเหมาะสมในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า รายการที่มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด คือ การนำผลการประเมินกิจกรรมต่างๆ ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ โรงเรียนมีการจัดทำแผนการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีส่วนร่วมในการนิเทศ กำกับ ติดตาม การดำเนินโครงการ และการชี้แจงผลการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ของโครงการให้บุคลากรทราบ ส่วนรายการอื่นๆ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโรงเรียนบ้านจ้อง ในภาพรวมของด้านผลผลิตที่เป็นพฤติกรรมของผู้เรียน (คุณธรรม 8 ประการ) มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ความสะอาด รองลงมา คือ ความมีวินัย ความสุภาพ ความสามัคคี ความมีน้ำใจ ความประหยัด ความซื่อสัตย์ ความขยัน ตามลำดับ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจมีต่อพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน (คุณธรรม 8 ประการ) ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ทุกรายการที่มีความพึงพอใจในระดับมาก ความมีวินัย มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ความประหยัด ความสะอาด ความขยัน ความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ความมีน้ำใจ ตามลำดับ ส่วนความสุภาพ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด