การประเมินโครงการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากับกลุ่มอีซูซุ ในวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP Model) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทของโครงการ เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของโครงการ ความสอดคล้องและความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ 2) ประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ เกี่ยวกับความเหมาะสมของปัจจัยในการดำเนินโครงการ สภาพความพร้อมของบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ และงบประมาณ 3) ประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการ เกี่ยวกับการวางแผน การดำเนินการ การประเมินผล และการปรับปรุงแก้ไข 4) ประเมินผลผลิตของโครงการ เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการและความพึงพอใจจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งการประเมินผลกระทบของโครงการเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียน
กลุ่มตัวอย่างและกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ประเมินโครงการใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตาราง Krejcie & Morgan และทำการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้เรียน และบุคลากรของกลุ่มอีซูซุ ได้แก่ 1) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้การศึกษาโดยใช้แบบสอบถาม รวมจำนวน 274 คน และ 2) กลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาโดยใช้แบบสัมภาษณ์ เพื่อยืนยันข้อมูลจากแบบสอบถามและเสริมข้อมูลคุณภาพเชิงประจักษ์ รวมจำนวน 19 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็น จำนวน 10 ฉบับ และแบบสัมภาษณ์ จำนวน 3 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป และวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินโครงการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากับกลุ่มอีซูซุ ในวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ตามรูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP Model) โดยใช้แบบสอบถาม พบว่า
โดยภาพรวมทั้งโครงการ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายประเด็นเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ 1) ด้านปัจจัยเบื้องต้น 2) ด้านผลผลิต 3) ด้านผลกระทบ 4) ด้านบริบท และ 5) ด้านกระบวนการ โดยทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ซึ่งผลการประเมินเป็นรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ ดังนี้
1.1 ผลการประเมินบริบท พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด ทุกรายการอยู่ในระดับมาก รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการ รองลงมาคือ ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ และรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ความต้องการจำเป็นของการทำโครงการ ซึ่งทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมิน
1.2 ผลการประเมินปัจจัยเบื้องต้น พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด ทุกรายการอยู่ในระดับมาก รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ความพร้อมของอาคารสถานที่ รองลงมาคือ ความพร้อมของบุคลากร และรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ความเพียงพอของวัสดุ อุปกรณ์ ซึ่งทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
1.3 ผลการประเมินกระบวนการ พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด ทุกรายการอยู่ในระดับมาก รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การติดตามและประเมินผล รองลงมาเป็น การปรับปรุงแก้ไข รายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ การวางแผน ซึ่งทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
1.4 ผลการประเมินผลผลิต พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด ทุกรายการมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และรองลงมา คือ ความพึงพอใจในผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ซึ่งทั้งสองรายการผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
1.5 ผลการประเมินผลกระทบ ซึ่งเป็นการประเมินคุณภาพผู้เรียน พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
2. ผลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้เรียน และบุคลากรของกลุ่มอีซูซุ เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากับกลุ่มอีซูซุ ในวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร พบว่า ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นสอดคล้องกับแบบสอบถาม และได้ข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติมมาสนับสนุนผลการประเมิน
ผลการประเมินโครงการทั้งจากแบบสอบถามและจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้เรียน และบุคลากรของกลุ่มอีซูซุ สรุปได้ว่า โครงการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากับกลุ่มอีซูซุ ในวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต/ผลกระทบ ภาพรวมทุกตัวชี้วัด อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และบรรลุวัตถุประสงค์ของการประเมินโครงการ
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลประเมินไปใช้
จากผลการประเมินโครงการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะ กรรมการการอาชีวศึกษากับกลุ่มอีซูซุ ในวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร พบว่า โครงการผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและทุกตัวชี้วัด วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ควรดำเนินโครงการนี้ต่อไป และเพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรนำผลประเมินบางประเด็นหรือบางตัวชี้วัด ไปปรับปรุงพัฒนา ดังนี้
1.1 ด้านบริบท จากผลการประเมินพบว่า ในภาพรวมและรายตัวชี้วัด มีความเหมาะสมในระดับมาก ดังนั้นวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรวางแผนดำเนินการต่อไป
1.2 ผลการประเมินปัจจัยเบื้องต้น พบว่า ความเพียงพอของวัสดุ อุปกรณ์ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ควรวางแผนการเตรียมความพร้อมด้านวัสดุ อุปกรณ์ ให้เหมาะสม เพียงพอ และมีคุณภาพ
1.3 ด้านกระบวนการ พบว่า การประเมินผลมีค่าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนิน งานโครงการมีประสิทธิภาพและเกิดการมีส่วนร่วมรวมพลังอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผล ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ และดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องจนสิ้นสุดโครงการ
1.4 ด้านผลผลิตของโครงการ ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และโครงการย่อยแต่ละโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้สูงขึ้น ดังนั้นควรดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างต่อเนื่อง
2. ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการประเมินโครงการ ซึ่งเป็นโครงการกิจกรรมอื่น ๆ ของของสถานศึกษาหรือของผู้เรียนหรือเป็นโครงการในฝ่ายต่าง ๆ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP Model)
2.2 ควรมีการประเมินโครงการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะ กรรมการการอาชีวศึกษากับกลุ่มอีซูซุ ในวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ในปีการศึกษาต่อไป โดยใช้รูปแบบการประเมินอื่น เช่น รูปแบบการประเมินของไทเลอร์ รูปแบบการประเมินของโพรวัส รูปแบบการประเมินของสเต็ก (Stake) และรูปแบบการประเมินของสคริฟเวน (Scriven) เป็นต้น