ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้
หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ
ชื่อผู้ศึกษา นางสาวนวพร ตรีศักดิ์
ปีที่ทำการศึกษา ปีการศึกษา 2559
สถานที่ศึกษา โรงเรียนวันอาสาพัฒนา 2520
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อศึกษาความสามารถในการใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์ ของเด็กชั้นอนุบาล ปีที่ 2 ในการปฏิบัติกิจกรรมหลังจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพแต่ละเรื่อง และเพื่อศึกษาระดับพฤติกรรมการฟัง การพูด ร่วมสนทนาแสดงความคิดเห็นและการนับจำนวนจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 12 เล่ม กิจกรรมท้ายหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ในแต่ละเรื่อง ๆ ละ 5 ข้อ รวม 12 แบบ แผนการจัดประสบการณ์การใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีทั้งหมด 60 แผน ใช้เวลาจัดประสบการณ์การเรียนรู้แผนละ 20 นาที แบบวัดความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ เป็นแบบทดสอบที่สร้างขึ้นเพื่อวัดทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาทักษะ ทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 และแบบสังเกตพฤติกรรม การฟัง การพูด ร่วมสนทนาแสดงความคิดเห็น และการนับจำนวน เป็นแบบประเมินพฤติกรรมเด็กในระหว่างจัดประสบการณ์การเรียนรู้แต่ละแผน ซึ่งมีพฤติกรรมที่ประเมินเด็ก 3 พฤติกรรม คือ การปฏิบัติตนในการฟังและการพูด การสนทนาแสดงความคิดเห็นและการนับจำนวน การดำเนินการศึกษา ผู้ศึกษาได้นำหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ไปทำการจัดประสบการณ์แก่เด็กกลุ่มเป้าหมาย เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนวันอาสาพัฒนา 2520 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 27 คน ระยะเวลา 60 ครั้ง (ครั้งละ20 นาที) ใช้วิธีการศึกษาเก็บข้อมูล แบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The Single Group, Pretest Posttest Design) การวิเคราะห์ข้อมูล เปรียบเทียบทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ โดยนำคะแนนของเด็กแต่ละคนที่ได้จากการทำแบบวัดความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลังจัดประสบการณ์มาหาค่าคะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยด้วยสถิติทดสอบ t-test (t-test dependent) วิเคราะห์ความสามารถทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ในการปฏิบัติกิจกรรมหลังจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยหนังสือคำคล้องจองแต่ละเล่มของเด็กแต่ละคนโดยวิเคราะห์หาค่าร้อยละของคะแนนที่ได้ และวิเคราะห์ระดับพฤติกรรม การฟัง การพูด ร่วมสนทนาแสดงความคิดเห็น และการนับจำนวนของเด็ก โดยนำผลประเมินพฤติกรรมเด็กทั้ง 3 ด้าน จากแบบบันทึกผลประเมินพฤติกรรมท้ายแผนจัดประสบการณ์การเรียนรู้แต่ละแผนมาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และแปลผลตามเกณฑ์
สรุปผลการศึกษา
1. ภาพรวมผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทั้ง 12 เล่ม มีคะแนนเฉลี่ยการวัดความพร้อมทักษะทางคณิตศาสตร์หลังจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 คือ หลังจัดประสบการณ์มีคะแนนเฉลี่ย 14.96 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.32 ก่อนจัดประสบการณ์มีคะแนนเฉลี่ย 4.56 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.53
2. การจัดกิจกรรมประสบการณ์การเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้หนังสือ คำคล้องจองประกอบภาพพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทั้ง 12 เรื่อง มีค่าเฉลี่ยคะแนนการทำแบบกิจกรรมท้ายเล่มหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทุกคนเท่ากับ 55.11 คิดเป็นร้อยละ 91.85
3. คุณภาพพฤติกรรมการปฏิบัติตนในการฟัง การพูด ร่วมสนทนาแสดงความคิดเห็น และการนับจำนวนของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทุกคนจากทุกแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ในภาพรวมทั้ง 3 ด้านอยู่ในเกณฑ์ระดับ ดี ( = 2.83, S.D. = 0.08) เมื่อพิจารณารายพฤติกรรม พบว่าเด็กมีพฤติกรรมด้านการปฏิบัติตนในการฟัง การพูดสูงสุด ( =2.86, S.D.= 0.06) รองลงมาคือการนับจำนวนของเด็ก( =2.83, S.D.= 0.08) และร่วมสนทนาแสดงความคิดเห็น ( =2.81, S.D. = 0.08)