บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการประเมินโครงการเกษตรปลอดสารพิษชีวิตพอเพียงโรงเรียน บ้านหนองเตา อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 ผู้ประเมินได้ประเมินโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ซึ่งประกอบด้วย ด้านบริบทของโครงการ (Context) ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input) ด้านกระบวนการดำเนินโครงการ (Process) และด้านผลผลิตของโครงการ (Product) ได้ทำการดำเนินการประเมินกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 109 คน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ศึกษาเป็นแบบประเมินที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น จำนวน 2 ฉบับ คือแบบประเมินสำหรับ ครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และแบบประเมินสำหรับ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำเสนอในรูปตารางประกอบคำบรรยาย
ผลการประเมินโครงการพบว่า
ผลการประเมินโครงการตามรูปแบบ CIPP ของStufflebeam ในภาพรวมทั้งสี่ด้าน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน ของโรงเรียนบ้านหนองเตา โดยภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก แสดงว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
1. ด้านบริบท หรือสภาพแวดล้อม ตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการ
สถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ในสภาพสังคมปัจจุบันมีความสำคัญและมีความจำเป็นในการดำรงชีวิต โครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษา ตลอดจนเป้าหมายของโครงการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและผู้ปกครอง จึงทำให้โครงการนั้นประสบความสำเร็จ และส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ทักษะ และเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพสุจริต
2. ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้น
พื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาก โดยผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าผู้บริหารโรงเรียนกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติในการจัดทำโครงการชัดเจน ครูที่ปรึกษาโครงการมีความรู้ ความสามารถ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพและการทำกิจกรรมกลุ่มแก่นักเรียน จึงทำให้โครงการนั้นประสบความสำเร็จ
3. ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้น
พื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาก โดยผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า วิธีการดำเนินการ และการประเมินผลที่เป็นระบบ จึงทำให้โครงการนั้นประสบความสำเร็จ
4. ด้านผลผลิตของโครงการตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา
ขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนโดยภาพรวมมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมากโดยผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า นักเรียนสามารถทำงานเป็นกลุ่ม คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น นำความรู้ ทักษะจากการเรียนรู้มาปฏิบัติได้จริงทำให้โครงการนี้เกิดประโยชน์กับนักเรียนในด้านทักษะชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงทำให้โครงการนั้นประสบความสำเร็จ
ข้อเสนอแนะและแนวทางในการปรับปรุงโครงการ
จากการสรุปและอภิปรายผลที่กล่าวไปแล้วนั้น แสดงให้ทราบว่าการประเมินโครงการเกษตรปลอดสารพิษชีวิตพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองเตา อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ทั้ง 4 ด้าน แม้ว่าจะมีภาพรวมของการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ควรได้รับการพัฒนา จึงมีข้อเสนอแนะไว้ ดังนี้
1. ควรจัดกิจกรรมการแปรรูปผลผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตล้นตลาด
2. ควรจัดกิจกรรมในโครงการที่หลากหลาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามฤดูกาล โดยต้องสอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ บริบท ความต้องการของโรงเรียนและชุมชน
3. ควรมีการประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ เพื่อให้ทราบสภาพปัญหา และความต้องการทรัพยากร ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานบรรลุผลตามวัตถุประสงค์
4. ควรมีการประเมินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่ใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานโครงการต่อไป
ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย
1. ควรจัดประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประโยชน์ในวงกว้างขึ้น
2. ด้วยบริบทชองสถานศึกษาที่จำกัดในเรื่องพื้นที่ในการดำเนินการตามโครงการควรจะประสานขอพื้นที่ว่างของชุมชนและใกล้แหล่งน้ำเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและเป็นการจัดโซนนิ่งในการบริหารจัดการโครงการ
3. ควรจัดการบริหารหลักสูตรวิชาเพิ่มเติมเศรษฐกิจพอเพียง ให้สอดรับกับกิจกรรมที่จะเพิ่มขึ้นในการดำเนินโครงการต่อไป
4. ควรประสานงานวิทยากรภายนอก ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการจัดกิจกรรมการให้ความรู้แก่นักเรียนโดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่เกษตรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่ และรวมถึง ส่วนขยายโครงการหลวงฯที่มีสำนักงานในพื้นที่
5. ควรจัดกิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่ ให้กับคณะครูและนักเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานโครงการ