ชื่อเรื่อง : รูปแบบการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้วยการบริหารคุณภาพเชิงระบบ
ของโรงเรียนวัดหัวกรด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต 1
ผู้วิจัย : นางสาวราตรี เทียนดำ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหัวกรด
คำสำคัญ : รูปแบบ ระบบประกันคุณภาพการศึกษา การบริหารคุณภาพเชิงระบบ
ปีที่วิจัย : 2558
บทคัดย่อวิจัย
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและระดับ
การปฏิบัติของการดำเนินงานระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดหัวกรดก่อนการพัฒนา 2) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้วยการบริหารคุณภาพเชิงระบบ 3) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาระบบประกันคุณภาพโดยใช้รูปแบบการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา
ด้วยการบริหารคุณภาพเชิงระบบ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในผลการพัฒนาระบบประกันคุณภาพ
การศึกษาโดยใช้รูปแบบการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้วยการบริหารคุณภาพเชิงระบบ โดยประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนวัดหัวกรด ระหว่าง
ปีการศึกษา 2555-2558 จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 18 คน 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 8 คน 3) คณะกรรมการจากเขตพื้นที่การศึกษาที่ทำ
หน้าที่ตรวจสอบระบบประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน จำนวน 5 คน ใช้กลุ่มประชากรเป็นผู้ให้ข้อมูล และ 4) ผู้แทนผู้ปกครอง ใช้การเลือกอย่างเจาะจงจากกลุ่มประชากรมาเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 18 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสรุปผลการศึกษาเอกสาร แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 3 ชุด แบบบันทึกข้อมูลการสนทนากลุ่ม
และแบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 1 ผลการศึกษาวิเคราะห์เอกสาร พบว่า สภาพปัจจุบันปัญหา ในการดำเนินการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โรงเรียน มีทรัพยากร บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และระบบเทคโนโลยีที่ยังไม่เพียงพอและเหมาะสม แต่จุดเด่น คือ ชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียน ด้านกระบวนการ (Process) การวางแผนการระบบการประกันคุณภาพยังไม่ชัดเจน การนิเทศกำกับติดตามไม่สม่ำเสมอ การสรุปรายงานผลข้อมูลยังไม่ครอบคลุมมาตรฐาน ผลสัมฤทธิ์และคุณลักษณะผู้เรียนยังไม่เป็นไปตามาตรฐาน ด้านผลผลิต (Output) คุณภาพ
การจัดการศึกษายังต้องได้รับการพัฒนาทั้งในด้านผู้เรียน ครูผู้สอน ระบบการบริหารจัดการ อาคาร
สถานที่สิ่งแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ ด้านผลกระทบ (Outcome) บุคลากรยังไม่มีความเข้าใจชัดเจน
ในเรื่องความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการระบบประกันคุณภาพทำให้มีทัศนคติเชิงลบต่อการประกันคุณภาพการศึกษา ข้อดี คือ ครู ผู้บริหาร นักเรียน และชุมชนพร้อมให้ความร่วมมือในการรับ
การเปลี่ยนแปลง และร่วมพัฒนางาน ผลการวิเคราะห์ระดับการปฏิบัติของการดำเนินงานระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดหัวกรด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต 1 ก่อนการพัฒนา พบว่า ระดับการปฏิบัติก่อนการพัฒนาโดยภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อจำแนกรายด้าน พบว่า ด้านการควบคุมคุณภาพ (Quality Control ) โดยรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยระดับการปฏิบัติต่ำ คือ 1) มีโครงการอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้ระบบประกันคุณภาพการศึกษา 2) กำหนดรูปแบบเอกสารที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลตามมาตรฐานการประกันคุณภาพ 3) ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงานระบบประกันคุณภาพการศึกษา 4) โรงเรียนเปิดโอกาสให้ท่านมีส่วนร่วมในการวางแผนระบบประกันคุณภาพ 5) มีการสร้างความตระหนักและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันคุณภาพ ด้านการตรวจสอบคุณภาพ (Quality Audit) โดยภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยระดับการปฏิบัติต่ำ คือ 1) ท่านมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ที่เป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนางาน 2) มีการนำผลการปฏิบัติงานมาอภิปรายเพื่อหาแนวทางปรับปรุง
พัฒนา 3) กำหนดเกณฑ์และตัวชี้วัดคุณภาพแต่ละมาตรฐานที่ชัดเจน 4) หน่วยงานต้นสังกัดมานิเทศ
กำกับติดตามให้คำแนะนำสม่ำเสมอ 5) มีผู้ให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหาในการปฏิบัติงาน 6) มีการสำรวจ
ความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียน ด้านการประเมินคุณภาพ (Quality Assessment) โดยภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ย
ระดับการปฏิบัติต่ำ คือ 1) ครูจัดทำนวัตกรรมและงานวิจัยเข้ารับการประเมินจากหน่วยงานต่าง ๆ 2) ระบบจัดเก็บเอกสารง่ายต่อการสืบค้นอ้างอิง 3) มีผู้มาศึกษาดูงานสถานศึกษาแล้วให้ข้อเสนอแนะ
ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนา 4) นำข้อเสนอแนะจากการประเมินของหน่วยงานต้นสังกัดมาเป็นแนว
ทางพัฒนา
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 2 รูปแบบการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้วยการบริหารคุณภาพเชิงระบบที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลและผ่านการประเมินความเป็นไปได้ในการใช้ดำเนินการ
โดยการสนทนากลุ่มและประเมินความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน CANSET Model
คือ 1) รวบรวมข้อมูล (Collect Data) 2) วิเคราะห์และจำแนกข้อมูล (Analysis and Identify) 3) จัดหา
เครือข่ายร่วมพัฒนา (Network Development) 4) จัดระบบงาน (Setting System) 5) ประเมินผลภาพรวม การพัฒนา (Evaluation) 6) รณรงค์ให้เกิดความยั่งยืน (Try to keep as a schools culture)
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 3 ผลการพัฒนาโดยใช้รูปแบบการพัฒนาระบบประกันคุณภาพ
การศึกษาด้วยการบริหารคุณภาพเชิงระบบของโรงเรียนวัดหัวกรด พบว่า ผลการพัฒนาโดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการจัดทำและวางแผน โดยภาพรวม
มีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมากที่สุด โดยประเด็นที่มีผลการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ 1) โรงเรียนมีการ
แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการระบบประกันคุณภาพที่ครอบคลุมทุกมาตรฐาน 2) มีเกณฑ์การประเมินผล
การพัฒนาที่ชัดเจน 3) กิจกรรมของระบบประกันคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานและตัวบ่งชี้การประกัน 4) โรงเรียนมีโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพอยู่ในแผนปฏิบัติการประจำปี 5) โรงเรียนมีการประชุมระดมความคิดเพื่อวางแผนดำเนินการระบบประกันคุณภาพ 6) มีปฏิทินการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเป็นขั้นตอน 7) การพัฒนาระบบประกันคุณภาพได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการอย่างเหมาะสม และ 8) บุคลากรมีความรู้เข้าใจในมาตรฐานและวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษา ด้านการลงมือปฏิบัติ
โดยภาพรวมมีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมาก โดยประเด็นที่มีผลการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ 1) ผู้บริหาร
ร่วมให้คำแนะนำและแก้ปัญหาการทำงาน 2) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญประสบความสำเร็จ 3) บุคลากรทำงานระบบประกันคุณภาพเป็นคู่ขนานกับงานการจัดการเรียนการสอนปกติ 4) ผู้รับผิดชอบมาตรฐานแต่ละด้านจัดกิจกรรมตามปฏิทินการปฏิบัติงาน 5) หลังดำเนินกิจกรรมทุกครั้ง
มีการสรุปผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานการประกันคุณภาพ 6) มีกระบวนการส่งเสริมผู้เรียนตามมาตรฐานคุณภาพผู้เรียน 7) มีการเสริมแรงทางบวกเพื่อให้เกิดกำลังใจในการพัฒนางาน 8) ครูใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 9) โรงเรียนมีเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงาน ด้านการตรวจสอบประเมินผล โดยภาพรวมมีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมากที่สุด โดยประเด็นที่มีผลการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ 1) ท่านสามารถสืบค้นข้อมูลระบบประกันคุณภาพได้จาก
ระบบฐานข้อมูลของโรงเรียน 2) ผู้บริหารตรวจสอบข้อมูลระบบประกันคุณภาพให้เป็นปัจจุบัน 3) มีการประเมินผลการพัฒนาคุณภาพจากหน่วยงานภายนอก 4) บุคลากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงานในแต่ละมาตรฐานเสมอ 5) โรงเรียนมีการนิเทศ กำกับ ติดตามระบบประกันคุณภาพสม่ำเสมอ 6) มีการประเมิน
และรายงานผลการจัดกิจกรรมตามมาตรฐานการประกันคุณภาพทุกกิจกรรม 7) มีการประชาสัมพันธ์
ผลการพัฒนาคุณภาพสู่หน่วยงานภายนอก 8) จัดทำแฟ้มสะสมผลงานเพื่อรายงานผลการจัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปีอย่างเป็นระบบ และ 9) โรงเรียนมีการนิเทศกำกับติดตามระบบประกันคุณภาพสม่ำเสมอ ด้านการนำผลการประเมินย้อนกลับไปปรับปรุงแก้ไขการทำงาน โดยภาพรวมมีผลการพัฒนา
อยู่ในระดับมากที่สุด โดยประเด็นที่มีผลการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ 1) มีการประชุมสรุปผลงานการดำเนินงานโครงการระบบประกันคุณภาพเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน 2) นักเรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพจาก
การพัฒนาระบบประกันคุณภาพ 3) ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามดีกว่าผลการประเมินรอบสอง
4) นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพอใจกับคุณภาพของโรงเรียน 5) ท่านมีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพของโรงเรียน 6) ปรับปรุงระบบประกันคุณภาพตามข้อเสนอแนะ
การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม 7) โรงเรียนมีวิธีปฏิบัติงานที่เป็นแบบอย่างได้ และ 8) มีหน่วยงานมาศึกษาดูงานการพัฒนามาตรฐานของโรงเรียน
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 4 ความพึงพอใจในผลการพัฒนาโดยใช้รูปแบบการพัฒนาระบบ
ประกันคุณภาพการศึกษาด้วยการบริหารคุณภาพเชิงระบบของโรงเรียนวัดหัวกรด พบว่า ผลความพึงพอใจ
ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านผลการจัดการศึกษา โดยรวมมี
ความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุดในประเด็น 1) นักเรียนมีสุขภาพ
พลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงเหมาะสมกับวัย 2) โรงเรียนจัดการศึกษาได้สอดคล้องกับความต้องการของ
ท้องถิ่นและชุมชน 3) โรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพขึ้น 4) นักเรียนกล้าแสดงออกในสิ่งที่สร้างสรรค์ 5) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นที่น่าพอใจ 6) นักเรียนมีคุณลักษณะ
นิสัยที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความสุข 7) โรงเรียนได้รับการพัฒนาตามพันธกิจที่กำหนดไว้ และ 8) นักเรียนอ่านออกเขียนได้เหมาะสมกับวัย ด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวม มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุดในประเด็น 1) ครูมีความสามารถ
ในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กมีความรู้ 2) นักเรียนมีความสุขที่ได้มาเรียนที่โรงเรียน 3) นักเรียนมีแฟ้มสะสมผลงานจากการเรียน 4) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมั่นและศรัทธาในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน
5) โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งในและนอกโรงเรียน 6) ครูจัดกิจกรรมเสริมให้นักเรียนเรียนรู้
อย่างสนุกสนาน และ 7) ครูได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้านการบริหารจัดการศึกษา โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุดในประเด็น 1) ผู้บริหารสามารถ
เข้ากับชุมชนได้เป็นอย่างดี 2) โรงเรียนพัฒนาไปในทุก ๆ ด้านอย่างน่าพอใจ 3) บุคลากรในโรงเรียน
ทำงานอย่างเข้มแข็ง 4) ผู้บริหารมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการสถานศึกษา 5) โรงเรียน
พัฒนาจนสามารถเป็นแบบอย่างได้ และ 6) โรงเรียนสามารถระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาการศึกษาได้
อย่างเพียงพอ ด้านการประกันคุณภาพภายใน โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความ
พึงพอใจมากที่สุดในประเด็น 1) โรงเรียนมีแนวทางในการรักษาคุณภาพการศึกษาที่ชัดเจน 2) ผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาจากหน่วยงานต้นสังกัดอยู่ในระดับดีและดีมาก 3) โรงเรียนผ่านการประเมิน คุณภาพภายนอกรอบสามในระดับคุณภาพดีและดีมากทุกมาตรฐาน 4) โรงเรียนจัดทำรายงานคุณภาพ การศึกษาประจำปีในเชิงเปรียบเทียบ 5) โรงเรียนมีการนิเทศกำกับติดตามระบบประกันคุณภาพสม่ำเสมอ 6) โรงเรียนพัฒนางานได้ประสบผลสำเร็จตามแผนพัฒนาคุณภาพ และ 7) โรงเรียนมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา