ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านและการเขียนสะกดคำ
โดยใช้แบบฝึกทักษะการสะกดคำยากของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้รายงาน นางดารารัศมี ดีปัญญา
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
ภาษาไทยเป็นสาระการเรียนรู้ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมากการอ่านและการเขียนสะกดคำเป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้
ภาษาไทยเพื่อให้ผู้เรียนอ่านออกเขียนได้ตามวุฒิภาวะของแต่ละบุคคลแบบฝึกทักษะเป็นนวัตกรรมประเภทหนึ่งที่เหมาะสำหรับฝึกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้นดังนั้นผู้รายงานจึงมีแนวความคิดที่จะนำแบบฝึกทักษะมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยมีวัตถุประสงค์ 1)
เพื่อสร้างแบบฝึกทักษะการสะกดคำยากของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านและการเขียนสะกดคำของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการสะกดคำยากก่อนเรียนกับหลังเรียนและ 3 )
เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการสะกดคำยาก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านคลองหลวง จำนวนนักเรียน 34 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling)เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 12 แผน แผนละ 1 ชั่วโมงแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.20 ถึง 0.75 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.84 และแบบวัดความพึงพอใจแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำคะแนนเฉลี่ยไปทดสอบด้วย t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาค้นคว้าปรากฏดังนี้
1. แบบฝึกทักษะการสะกดคำยากของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้รายงานได้สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 89.95/89.31 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ที่ตั้งไว้
2.ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการสะกดคำยากของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 13.44 คะแนน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน
คิดเป็นร้อยละ 44.80 และคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 26.79 จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 89.31 พบว่า คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการสะกดคำยาก อยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป แบบฝึกทักษะการสะกดคำยากมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมาะสมครูผู้สอนสาระภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านและการเขียนสะกดคำให้สูงขึ้น