ผู้ศึกษา นางศิริภัสพินพร นุ่มนวล
ปีที่ศึกษา พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้(5E) เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 70 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 โรงเรียนน้ำพองศึกษา อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 36 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 19 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้สะท้อนผลการปฏิบัติการ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบฝึกทักษะ แบบทดสอบท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม
การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการตามแนวคิดของ Kemmis & Mc
Taggart ได้เสนอขั้นตอนการปฏิบัติไว้ ดังนี้ 1) ขั้นวางแผน (Planning) 2) ขั้นปฏิบัติการ (Action) 3) ขั้นสังเกตการณ์ (Observation) 4) ขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติ (Reflection) และได้มีการปฏิบัติแบบเป็นวงจร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์วิจารณ์ผลการปฏิบัติ ทำให้ทราบข้อบกพร่อง ปรับปรุงแก้ไข และมีการพัฒนาตลอดเวลาที่ทำการวิจัย ซึ่งทำให้มีการแก้ไขปัญหาในชั้นเรียน เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการ 4 วงจร และใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้(5E) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล บันทึกผลการปฏิบัติ และนำข้อมูลที่ได้มาสรุปหาข้อบกพร่องและแนวทางแก้ไข เพื่อนำไปปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ในวงจรต่อไป
ผลการศึกษาพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้(5E) เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองจากสถานการณ์ปัญหาที่สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับความสนใจและประสบการณ์ของผู้เรียน เพื่อให้เกิดการรอบรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมโนมติในเรื่องที่เรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา การให้เหตุผล การสื่อสาร การสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์และการนำเสนอ การเชื่อมโยง และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง ด้วยการศึกษาค้นคว้าด้วยใบความรู้และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ผู้เรียนอภิปรายแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ได้ใช้ภาษาในการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้มีขั้นตอนในการจัดกิจกรรม 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นสร้างความสนใจ(Engagement :E1) โดยการทบทวนความรู้เดิม ขั้นที่ 2 ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration : E2 ) ศึกษาค้นคว้าจากใบความรู้ 3) ขั้นที่ 3 อธิบายและลงข้อสรุป (Explanation : E3 ) ขั้นที่ครูอธิบายเพิ่มเพื่อลงข้อสรุป ขั้นที่ 4 ขยายความรู้ (Elaboration :E4 ) เป็นขั้นที่นักเรียนอภิปรายผลและทำใบงาน และขั้นที่ 5 ขั้นประเมิน
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนพบว่า มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ
82.70 ของคะแนนเต็ม สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 70 และนักเรียนจำนวนร้อยละ 94.44 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 70
ผลที่ได้จากการสังเกตการณ์จัดกิจกรรมการเรียนรู้ สรุปได้ว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ได้แก่ สามารถสร้างความรู้ด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบ มีทักษะการทำงานกลุ่ม มีระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีเจคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ มีความภาคภูมิใจในตนเอง และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้เรียน