เรื่องที่วิจัย : การใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการส่งเสริม พัฒนาสุขภาพและแก้ไข ปัญหาภาวะโลหิตจางจากการ ขาดธาตุเหล็กอย่างบูรณาการ กรณีศึกษาโรงเรียน วัดโพธิ์เสด็จ
ผู้วิจัย : ชนิกรรดา เพชรชนะ
ปีที่วิจัย : 2558 - 2559
สถานที่วิจัย : โรงเรียนวัดโพธิ์เสด็จ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึดษา นครศรีธรรมราช เขต 1
บทคัดย่อ
รายงานวิจัย เรื่องการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพและแก้ไขปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างบูรณาการ กรณีศึกษาโรงเรียนวัดโพธิ์เสด็จ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(ประเภทการวิจัยและพัฒนา) วัตถุประสงค์เพื่อ 1) บูรณาการการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยองค์กรภาครัฐ และเอกชนที่มีภารกิจเกี่ยวข้องในการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็กนักเรียนในการป้องกันและแก้ไขภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างยั่งยืน 2) ส่งเสริมพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็กนักเรียนในด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข และด้านสังคมเศรษฐกิจชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก 3) ประเมินผลการพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็กนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากค่าฮีมาโตคริตที่เพิ่มขึ้น (ค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง) กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2558 ในระบบการศึกษาทุกคนจำนวน 165 คน
ผลการวิจัย
1.ผลของกระบวนการบูรณาการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียน พบว่า ผู้บริหารโรงเรียน ให้การสนับสนุน ครูทุกคนให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรม ผู้นำนักเรียนช่วยเจ้าหน้าที่พยาบาลในการคัดกรอง และรับภาระหน้าที่จ่ายยาเสริมธาตุเหล็กให้เด็กนักเรียนที่มีปัญหาภาวะโลหิตจางทุกวัน ส่วนผู้ประกอบการอาหารกลางวันของโรงเรียนก็ให้ความร่วมมือในการจัดบริการอาหารกลางวันที่มีธาตุเหล็กสูงให้นักเรียนได้รับประทานทุกวัน
2.ผลการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็กนักเรียนในด้าน การศึกษา ด้านการสาธารณสุข และด้านสังคมเศรษฐกิจชุมชน โดยโรงเรียนได้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการในชั้นเรียนเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จำนวน 20 ชั่วโมงสอนในชั่วโมงพัฒนาผู้เรียนทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ พบว่า นักเรียนทุคนมีความรู้เรื่องภาวะโลหิตจาง มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง มีความรับผิดชอบต่อตนเองมารับยาเสริมธาตุเหล็กทุกวัน ตลอดถึงการนำปัญหาสุขภาพของตนเองไปบอกผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้การสนับสนุนการตรวจค้นหานักเรียนที่มีภาวะโลหิตจาง สนับสนุนเวชภัณฑ์ยาเสริมธาตุเหล็ก การสอนวิชาการในการดูแลสุขภาพ ตลอดถึงการเลือกรับประทานอาหารที่สามารถป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจาง ส่วนผู้ปกครอง ให้ความร่วมมือในการจัดหาวัตถุดิบที่มีธาตุเหล็กสูงเพื่อปรุงอาหารให้นักเรียนได้รับประทานที่บ้าน
3.ผลการประเมินการพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็กนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า กลุ่มประชากรทั้งหมด 165 คน เมื่อตรวจคัดกรองพบว่า มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จำนวน 22 คน หรือร้อยละ 18.96 ผลการพัฒนาสุขภาพพบว่า การพัฒนาช่วงที่ 1 (ระยะเวลา 120 วัน)
ค่าฮีมาโตคริต (HCT)เพิ่มขึ้นเป็นปกติร้อยละ 50.00 การพัฒนาช่วงที่ 2 (ระยะเวลา 180 วัน)
ค่าฮีมาโตคริต (HCT)เพิ่มขึ้นเป็นปกติร้อยละ 84.61
สรุปการวิจัยนี้ ได้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินการ และส่งผลให้เกิดความสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิดการวิจัย คือ
ความพอประมาณ คือ พอประมาณในการกระทำภารกิจร่วมกันขององค์กรในพื้นที่ ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมใช้ทรัพยากร ร่วมใช้หลักวิชาการ ให้พอดี พอเหมาะสม ที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆ
ความมีเหตุผล คือ มีเหตุผลในการเลือกใช้ศักยภาพขององค์กรในพื้นที่ เช่น มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภูมิปัญญา ที่ตรงกับเหตุและผลของปัญหานั้น ๆ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว คือ ความสามารถในการมองเห็นและนำเอา คุณธรรม ศักยภาพขององค์กรในพื้นที่ มาดำเนินป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่
-ข้อเสนอแนะ
ผู้ที่สนใจ องค์กร หรือหน่วยงาน สามารถประยุกต์ใช้แนวทางของการวิจัยนี้ ไปใช้ในการวิจัยพัฒนา หรือ แก้ไขปัญหา ได้ตามบริบทของพื้นที่