รายงานการพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
นายอธิชาติ ตันทอง
ทำวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม และ (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design) กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านหนองคูอาวอย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 ในปีการศึกษา 2559 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) ชุดการเรียนรู้ แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 7 ชุด (2) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 7 แผน (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 และ (4) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า (1) ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.10/83.29 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 (2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย และ (3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม อยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.05 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.78
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และการอยู่ร่วมกันในสังคม การปรับตัว ตามสภาพแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เข้าใจถึงการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ตามยุคสมัย กาลเวลา ตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ เกิดความเข้าใจในตนเองและผู้อื่น มีความอดทน อดกลั้น ยอมรับในความแตกต่าง และมีคุณธรรม สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ และสังคมโลก (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551 : 132)
สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษา ต้องใช้เป็นหลักเพื่อสร้างพื้นฐานการคิด การเรียนรู้ และการแก้ปัญหา การจัดการเรียนรู้ต้องยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ยึดประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และพัฒนาการทางสมอง เน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรม ในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเป็นเครื่องมือที่จะนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายของหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน เช่น กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการสร้างความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการทางสังคม กระบวนการเผชิญสถานการณ์ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กระบวนการปฏิบัติ ลงมือทำจริง กระบวนการจัดการ กระบวนการวิจัย กระบวนการเรียนรู้ของตนเอง กระบวนการพัฒนาลักษณะนิสัย กระบวนการเหล่านี้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนควรได้รับการฝึกฝน พัฒนา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551 : 25-26)
ในการจัดการศึกษานั้นผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามกฎหมายทางการศึกษา ซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบจะต้องเกี่ยวกับการจัดการศึกษาจะต้องวิเคราะห์บทบัญญัติในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ อาทิ หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคน มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ นอกจากนี้ มาตรา 23 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสม อาทิ ข้อ (2) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน และมาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้
ระบุว่า ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ เช่น จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, 2558 : 12-13)
โรงเรียนบ้านหนองคูอาวอย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีระเกษ เขต 3 ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลดู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เปิดทำการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรโรงเรียนบ้านหนองคูอาวอย พุทธศักราช 2553 ปรับปรุง พ.ศ. 2557 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในด้านการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งผู้รายงานเป็นสอนรายวิชาสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และผู้รายงานมีความตระหนัก ในความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดในหลักสูตร และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพบรรลุเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนด ดังนั้นในปีการศึกษา 2558ผู้รายงานจึงเริ่มต้นศึกษาข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาสังคมศึกษา ในปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อต้องการทราบว่าการจัดการเรียนการสอน มีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อที่จะวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และหาแนวทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ และบรรลุเป้าหมายคุณภาพที่โรงเรียนกำหนดไว้ ดังนั้นผู้รายงานจึงวางแผนที่จะพัฒนาคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน ดังนี้
1. สำรวจข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชาสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2557 พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยรวมมีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 69.33 ซึ่งยังไม่บรรลุเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ร้อยละ 75
2. ศึกษาปัญหาการจัดการเรียนการสอน รายวิชาสังคมศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม พบว่าการจัดการเรียนการสอนยังไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ขาดการใช้สื่อการเรียนที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้
3. วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา พบว่าปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเป้าหมาย ที่โรงเรียนกำหนด มีสาเหตุมาจากการเรียนการสอนยังไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และสร้างความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ไม่คงทน และไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ ต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำข้อสอบ จึงมีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ นอกจากนี้ การขาดการใช้สื่อและเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้จึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
4. กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา โดยการผลิตสื่อการเรียนที่มีประสิทธิภาพขึ้นใช้ ในการจัดการเรียนการสอน ใช้วิธีสอนหรือเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการใช้สื่อการเรียนร่วมกับวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม ส่งเสริมการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล และใช้หลักจิตวิทยาในการเสริมแรงแก่นักเรียนอย่างเหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน
จากแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้รายงานได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวกับ การผลิตสื่อการเรียน และการใช้เทคนิคการสอน เพื่อนำมาส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ในกระบวนการเรียนรู้ และพบแนวคิดต่าง ๆ สรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ อาทิ ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์ (2552 : 441-442) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนมีข้อค้นพบจากการวิจัยซึ่งสรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนมีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเด็กเรียนช้าทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อวิชาเรียน และส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2543 : 117) ซึ่งกล่าวว่าชุดการเรียนช่วยให้ผู้สอนสามารถถ่ายทอดเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นนามธรรมสูง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น ฝึกการตัดสินใจในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีความรับผิดชอบ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชุดการเรียนได้ผลิตขึ้นโดยมีพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยา กล่าวคือเป็นการประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยนำหลักจิตวิทยา มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ได้แก่ คำนึงถึงความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสุนันทา สุนทรประเสริฐ (2547 : 1) กล่าวไว้ว่าชุดการเรียน เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ได้พัฒนามาจากวิธีการเรียนการสอนหลาย ๆ ระบบเข้ามาประสมประสานกันให้กลมกลืนกันได้อย่างเหมาะสม นับตั้งแต่การเรียนรู้ด้วยตนเอง การร่วมกิจกรรมกลุ่ม การใช้สื่อในรูปแบบต่าง ๆ มีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ไปทีละน้อย มีโอกาสคิดใคร่ครวญ มีส่วนร่วมกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉง ได้ลงมือปฏิบัติ และผู้เรียนมีโอกาสเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จโดยการทราบผลย้อนกลับทันทีหลังจากการทำกิจกรรม สำหรับชุดการเรียนประเภทที่เรียกว่า ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน หรือชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน เป็นชุดการเรียนที่นักเรียนเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มโดยจัดเป็นศูนย์การเรียน ซึ่งนอกจากจะให้ประสบการณ์การเรียนรู้โดยการศึกษาด้วยตนเองแล้ว ยังส่งเสริมให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์ สามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนเสริมสร้างวินัยและประชาธิปไตยในระบบกลุ่มด้วย (สุวิทย์ มูลคำ และสุนันทา สุนทรประเสริฐ. 2550 : 100) สำหรับวิธีการสอนแบบศูนย์การเรียนที่ใช้ควบคู่กับการใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน เป็นวิธีสอนที่เน้นความสำคัญของผู้เรียนหรือยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และใช้เทคนิคการสอนที่ใช้สื่อประสม และกระบวนการกลุ่ม (Group Process) เพื่อส่งเสริมให้การเรียนการสอนมีชีวิตชีวา ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาจากการกระทำกิจกรรม และการศึกษาด้วยตนเอง โดยแต่ละศูนย์มีชุดการเรียนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้หมุนเวียนเรียนจนครบทุกศูนย์การเรียน นอกจากนี้ ทิศนา แขมมณี (2553 : 376-377) กล่าวว่าวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมีข้อดีคือ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เรียนทราบผลการเรียนรู้ทันที และเป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เป็นรายบุคคลหรือกลุ่มย่อยได้ นอกจากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชุดการเรียนรู้แล้ว ผู้รายงานได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดการเรียนรู้หรือชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน เช่น ผลการวิจัยของหอง ลันไธสง (2551 : 66-68) เรื่องการพัฒนาชุดการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง หลักธรรม สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งพบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สอดคล้องกับการวิจัยของธนพันธ์ คอนโคตร (2553 : 76-77) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้เรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และศาสนพิธี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งพบว่าคะแนนเฉลี่ยของผลการเรียนรู้หลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีความคิดเห็นต่อการเรียน ด้วยชุดการเรียนรู้ในภาพรวมโดยเห็นด้วยในระดับมาก สอดคล้องกับผลการวิจัยของพนารัตน์ ศรีปัญญากร (2553 : 105-107) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งพบว่าผู้เรียนมีผลการเรียนรู้เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนรู้โดยมีความเห็นต่อชุดการเรียนรู้ อยู่ในระดับเห็นด้วยมาก
จากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ตลอดจนหลักการและเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัย มีแนวคิดว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน จะสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร และบรรลุเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดไว้ได้ สำหรับเนื้อหาสาระของการวิจัยในครั้งนี้เป็นสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยผู้รายงานสนใจที่จะศึกษาในหัวข้อ รายงานการพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เพื่อนำสารสนเทศที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่อไป
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้ แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
3. สมมติฐานการวิจัย
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. ประโยชน์ที่คากว่าจะได้รับ
1. เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยวิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน ในหน่วยการเรียนรู้อื่น ๆ และระดับชั้นอื่น ๆ ต่อไป
2. เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดความพึงพอใจซึ่งเป็นผลดีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยวิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน ในหน่วยการเรียนรู้อื่น ๆ และระดับชั้นอื่น ๆ
ต่อไป
3. เป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจในการศึกษาวิจัยการพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนและวิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ต่อไป
5. วิธีการดำเนินการวิจัย
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงการทดลองเบื้องต้น ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการวิจัย ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านหนองคูอาวอย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 ในปีการศึกษา 2559 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
2. รูปแบบการวิจัย ใช้วิธีการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ทดลองในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design) โดยมีแบบแผนการทดลองดังนี้
ผังการทดลอง Ex T1 X T2
X หมายถึง การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน
สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
T1 หมายถึง การทดสอบก่อนการทดลอง
T2 หมายถึง การทดสอบหลังการทดลอง
3. กรอบแนวคิดในการวิจัย ผู้รายงานกำหนดกรอบความคิดในการวิจัย ดังนี้
การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน
สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย
4.1 ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 7 ชุด
4.2 แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 7 แผน
4.3 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ เป็นแบบทดสอบปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก
4.4 แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 20 ข้อ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ
6. สรุปผลการวิจัย
1. ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระ การเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.10/83.29 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม อยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.05 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.78
7. อภิปรายผลการวิจัย
1. ผลการพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่าชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.10/83.29 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 เนื่องจากผู้รายงานได้สร้างชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนตามขั้นตอนการผลิตชุดการสอนแผนจุฬาทุกประการ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา วางแผนการสอน การผลิตชุดการเรียน และการทดสอบประสิทธิภาพ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2543 : 117-119) นอกจากนี้ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการ ความถนัด และความสนใจของนักเรียน นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่การศึกษาค้นคว้าจากบัตรเนื้อหาจนกระทั่งได้ข้อมูลความรู้เบื้องต้นแล้ว จึงได้ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันโดยมีการแสดงความคิดเห็น อภิปราย สรุปเนื้อหาในทุกแง่ทุกมุมจนเข้าใจดีแล้ว จึงตอบคำถามในบัตรคำถาม ซึ่งนักเรียนสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ และมีผลทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการมีค่าร้อยละสูงกว่าเกณฑ์ 80 และหลังจากนักเรียนตอบคำถามแล้วมีการตรวจสอบผลซึ่งทำให้นักเรียนทราบผลว่าถูกหรือผิดอย่างไร นอกจากนี้นักเรียนยังได้นำเสนอผลการปฏิบัติ กิจกรกรมกลุ่มพร้อมทั้งการสรุปบทเรียนร่วมกันในระดับชั้นเรียนอีกครั้ง จึงทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจบทเรียนยิ่งขึ้น และเมื่อนักเรียนทดสอบหลังเรียนจึงทำคะแนนได้มาก ซึ่งมีผลทำให้ประสิทธิภาพของผลลัพธ์มีค่าร้อยละสูงกว่าเกณฑ์ 80 และทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ผลการวิจัยดังกล่าวนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของหอง ลันไธสง (2551 : 66-68) เรื่องการพัฒนาชุดการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง หลักธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งพบว่าชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่อง หลักธรรม มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.02/84.53 ผลการวิจัยของธนพันธ์ คอนโคตร (2553 : 76-77) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้เรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และศาสนพิธี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งพบว่าชุดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.16/80.10 และสอดคล้องกับผลการวิจัยของพนารัตน์ ศรีปัญญากร (2553 : 105-107) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งพบว่าชุดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ 81.33/86.11
2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม พบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย โดยมีค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนเท่ากับ 13.23 และ 32.83 ตามลำดับ เนื่องจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนแบบศูนย์การเรียน นักเรียนได้ทำกิจกรรมอย่างหลากหลายทั้งกิจกรรมรายบุคคลและกลุ่ม เริ่มต้นจากนักเรียนได้ทดสอบก่อนเรียน ซึ่งทำให้ทราบพื้นฐานความรู้เดิมของตนเองในเรื่องที่จะเรียน เมื่อนักเรียนศึกษาค้นคว้าจากบัตรเนื้อหาแล้วนักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมอย่างหลากหลาย มีการรายงานผลการปฏิบัติกิจกรรม และการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างถูกต้อง และเมื่อนักเรียนได้ทดสอบความรู้ของตนเองจากการตอบคำถามในบัตรคำถาม ทำให้นักเรียนทราบว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจเพียงใด และในขั้นสุดท้ายนักเรียนทดสอบหลังเรียน ซึ่งจากกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องดังกล่าวจึงมีผลทำให้นักเรียนได้พัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนจึงสูงกว่าก่อนเรียน นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนเป็นการตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านสติปัญญา ความสามารถ และสอดคล้องกับกฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Thorndike) คือ กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) เพราะการฝึกหัดหรือการกระทำบ่อย ๆ ด้วยความเข้าใจทำให้การเรียนรู้นั้นคงทน และกฎแห่งการใช้ (Law of Use and Disuse) เพราะการเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ความมั่นคงของการเรียนรู้จะเกิดขึ้นหากมีการใช้บ่อย ๆ (ทิศนา แขมมณี, 2553 : 51-52) ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของหอง ลันไธสง (2551 : 66-68) เรื่องการพัฒนาชุดการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง หลักธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งพบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สอดคล้องกับการวิจัยของธนพันธ์ คอนโคตร (2553 : 76-77) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้เรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และศาสนพิธี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งพบว่าคะแนนเฉลี่ยของผลการเรียนรู้หลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสอดคล้องกับผลการวิจัยของพนารัตน์ ศรีปัญญากร (2553 : 105-107) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งพบว่าผู้เรียนมีผลการเรียนรู้เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้ แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม พบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม อยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.05 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.78 เนื่องจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนเป็นการตอบสนอง ความแตกต่างระหว่างบุคคลด้านความสนใจ และความต้องการ เมื่อนักเรียนเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ พร้อมทั้งได้รับการเสริมแรง ก็จะเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความพึงพอใจ และพร้อม ที่จะเรียนรู้ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับกฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ คือกฎแห่งผลที่พึงพอใจ (Law of Effect)
กล่าวคือ เมื่อบุคคลได้รับผลที่พึงพอใจย่อมอยากที่จะเรียนรู้ต่อไปแต่ถ้าได้รับผลที่ไม่พึงพอใจจะไม่อยากเรียนรู้ (ทิศนา แขมมณี, 2553 : 51-52) ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของธนพันธ์ คอนโคตร (2553 : 76-77) เรื่อง การพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและศาสนพิธี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่าความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดการเรียนรู้ในภาพรวมนักเรียนเห็นด้วยในระดับมาก สอดคล้องกับผลการวิจัยของเจริญศรี โสขวัญฟ้า (2554 : 101-103) เรื่องผลการใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่องกฎหมายน่ารู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งพบว่าความพึงพอใจของนักเรียนอยู่ในระดับมาก และผลการวิจัยของปุณณภา พลเยี่ยม (2554 : 87-90) เรื่องผลการใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรุงสุโขทัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งพบว่าความพึงพอใจของนักเรียนอยู่ในระดับมาก
8. ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งนี้
1.1 การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 ครูมีบทบาทในการชี้แนะและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของนักเรียน และช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและกลุ่มมากที่สุด นอกจากนี้ครูควรให้การเสริมแรงอย่างเหมาะสม เช่น ชมเชยนักเรียนเมื่อทำได้ถูกต้อง หรือมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ที่กำหนด หรือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
1.2 ครูควรชี้แจงให้นักเรียนทราบว่านักเรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้นนักเรียนจะต้องมีความมุ่งมั่น ใฝ่เรียนรู้ และรับผิดชอบในการเรียนทั้งของตนเองและกลุ่ม
1.3 การจัดชั้นเรียนและสภาพแวดล้อม ควรชัดชั้นเรียนให้มีจำนวนนักเรียนพอเหมาะ ไม่มากเกินไป เพราะการจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนจะต้องใช้พื้นที่ต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา และครูจะต้องดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ทั่วทุกกลุ่ม ในการวิจัยครั้งนี้ผู้รายงานเลือกกลุ่มเป้าหมาย 1 ห้อง มีนักเรียนจำนวน 30 คน จัดเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 5 คน จำนวน 6 กลุ่มซึ่งพอเหมาะในการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนใช้ในการวิจัยรายวิชาต่าง ๆ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ อื่น ๆ สามารถทำได้ ซึ่งจะทำให้ได้สารสนเทศการวิจัยที่เป็นประโยชน์หลากหลายมากขึ้น
2.2 ควรนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนไปใช้ศึกษากับตัวแปรอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจ เช่น เจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เจตคติต่อวิชาเรียน ความคงทนในการเรียนรู้ เป็นต้น
9. บรรณานุกรม
เจริญศรี โสขวัญฟ้า. ผลการใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่องกฎหมายน่ารู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 3. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, 2554.
ชัยยงค์ พรหมวงศ์. กระบวนการสื่อการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2543.
ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์. 80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.
กรุงเทพฯ : แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น, 2552.
ทิศนา แขมมณี. ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.
พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.
ธนพันธ์ คอนโคตร. การพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและศาสนพิธี
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ปุณณภา พลเยี่ยม. ผลการใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรุงสุโขทัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1.
วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, 2554.
พนารัตน์ ศรีปัญญากร. การพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับผู้เรียน
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาหลักสูตรและการนิเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ศึกษาธิการ, กระทรวง. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2551.
สุนันทา สุนทรประเสริฐ. การผลิตชุดการสอน. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์, 2547.
สุวิทย์ มูลคำ และสุนันทา สุนทรประเสริฐ. การพัฒนาผลงานทางวิชาการสู่การเลื่อนวิทยฐานะ.
กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, 2550.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน). พระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ : สำนักงานรับรองมาตรฐาน
และประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน), 2558.
หอง ลันไธสง. การพัฒนาชุดการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
เรื่อง หลักธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต.
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 2551.