ชื่อเรื่อง รายงานการใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตาม มาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้ศึกษา นางศิริพันธุ์ อิ่มมาก
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาลประตูลี้ จังหวัดลำพูน
ปีที่ดำเนินการ ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังเรียนแบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กับเกณฑ์ร้อยละ 80 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อแบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลประตูลี้ จังหวัดลำพูน ที่เรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ปีการศึกษา 2557 โดยทำการสุ่มแบบเจาะจง ได้นักเรียน จำนวน 27 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทย แบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 2) แบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 4 ชุด โดยหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ที่มีค่าตั้งแต่ 0.50 ขึ้นไป 3) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด จำนวน 10 ข้อ
ผลการศึกษา พบว่า
1. การสร้างและหาประสิทธิภาพแบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกด ไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยพิจารณาหาค่าความเหมาะสม ในด้านต่างๆ ของแบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด จากผู้เชี่ยวชาญ 5 คน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (และมีระดับความเห็นที่สอดคล้องกันอยู่ในระดับมาก ซึ่งประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ในการอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกดสำหรับครู คำชี้แจงสำหรับการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด และชุดแบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา จำนวน 4 ชุด จากการนำแบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ไปใช้กับนักเรียนโรงเรียนเทศบาลประตูลี้ จังหวัดลำพูน จำนวน 27 คน พบว่า แบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.03 /85.92 ซึ่งแต่ละชุดมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์ 80/80
2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยหลังใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กับเกณฑ์ร้อยละ 80 พบว่า สูงกว่าเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน และการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด