บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ชื่อเรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการโรงเรียนน่าอยู่ควบคู่กับการเรียนรู้โรงเรียนอนุบาล
เชียงของ
ผู้รายงาน : นายชนะไพร ยอดบุญเรือง
ปีการศึกษา : 2560
การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา ที่ทำให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ นอกจากจะสามารถให้ความรู้ความคิดแก่ทุกคนที่อยู่ในสถานศึกษา แล้วครูซึ่งเป็นบุคลากรหลักในการจัดการศึกษาที่จะส่งผลให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้มากขึ้น และยังสามารถส่งเสริมให้คนรู้สึกกระตือรือร้น ใคร่รู้ใคร่เรียนรู้จักวิธีในการดำรงชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและต่อสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้องและสภาพแวดล้อมที่ดีจะเป็นแบบอย่างที่ดี ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชนกลายเป็นสถานที่มีค่าของชุมชน ส่งผลให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจเพิ่มความสนใจในการศึกษาและการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษามากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า การพัฒนาสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งแก่ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชนด้วย
ในการรายงานผลการประเมินโครงการโรงเรียนน่าอยู่ควบคู่กับการเรียนรู้โรงเรียนอนุบาลเชียงของมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนน่าอยู่ควบคู่กับการเรียนรู้โรงเรียนอนุบาลเชียงของ โดยใช้รูปแบบซิพพ์โมเดล (CIPP Model ) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 63 คน นักเรียน ป.1-ม.3 จำนวน 285 คน ผู้ปกครอง ป.1-ม.3จำนวน 285 คนรวมทั้งสิ้น 633 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรายงานประกอบด้วย แบบสอบถามการประเมินโครงการโรงเรียนน่าอยู่ควบคู่กับการเรียนรู้โรงเรียนอนุบาลเชียงของ แบบสอบถามใช้มาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แปลผล จัดอันดับ และนำเสนอในรูปตารางประกอบการบรรยาย รายงานผลการประเมินโครงการโรงเรียนน่าอยู่ควบคู่กับการเรียนรู้โรงเรียนอนุบาลเชียงของ ผลการศึกษาปรากฏดังนี้
ผลการรายงานสรุปได้ดังนี้
1.ผลการประเมินโดยภาพรวม พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองมีความเห็นสอดคล้องกันว่าโรงเรียนมีระดับการปฏิบัติมาก
2. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของการดำเนินงาน พบว่า วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยรวมสอดคล้องในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อทุกข้อมีระดับความสอดคล้องกับความต้องการในระดับมากเช่นกัน
3. การดำเนินงานด้านปัจจัยนำเข้าพบว่า ผู้บริหาร ครูผู้รับผิดชอบ บุคลากรในการดำเนินงานมีความเพียงพอและเหมาะสม และมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานในระดับมาก คู่มือดำเนินงานโครงการ วัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติกิจกรรมของโครงการ ระยะเวลาในการดำเนินงานและงบประมาณเหมาะสมและมีความชัดเจน
4. กระบวนการดำเนินงาน พบว่า การกำหนดแผนงานกิจกรรมมีความเหมาะสม การทำกิจกรรมในโรงเรียนและกิจกรรมร่วมกับชุมชนมีความเหมาะสม และพอใจต่อกระบวนการดำเนินงานในระดับมาก มีการตั้งคณะกรรมการ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการอย่างชัดเจนและการดำเนินงานตามแผนงานที่วางได้อย่างชัดเจน
5. ผลผลิตจากการดำเนินงาน พบว่ากิจกรรมโครงการได้เสริมสร้างและพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่ดีเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านการเรียนการสอนส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และเรียนรู้อย่างมีความสุขในสภาพแวดล้อมที่ดี และกิจกรรมบางกิจกรรมได้ทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจนำไปใช้ปฏิบัติจริงได้อย่างถูกต้องตลอดจนนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้ปกครองและชุมชนได้ นักเรียนสามารถพัฒนาคุณภาพตนเอง
6.ปัญหาที่สำคัญและพบบ่อย คือ ขยะมีมาก นักเรียนบางส่วนขาดจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อหน้าที่ ส่วนข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงพัฒนา คือ ควรมีทางเดินที่มีหลังคาหลบฝนเชื่อมระหว่าตึก ตรวจสอบรายการขนม ให้มีความเหมาะสมกับ และ ควรมีลานจอดรถเพื่อความสะดวกในการรับส่งนักเรียน
การศึกษาในครั้งนี้พบว่า การดำเนินโครงการโรงเรียนน่าอยู่ควบคู่กับการเรียนรู้โรงเรียนอนุบาลเชียงของเป็นการดำเนินงานที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ต้องอาศัยหลักการบริหารจัดการองค์กรเป็นทีม ต้องอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่าง นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานราชการและองค์กรทุกภาคส่วน โดยมีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการบริหาร เป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งผลให้มีการพัฒนาองค์กร และพัฒนาบุคคลให้ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน