ชื่อเรื่อง การพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูป ชุด ชีวิตและครอบครัว พ21101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้ศึกษา นายรัฐพล ร่วมใจ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนทุ่งใหญ่วิทยาคาร ตำบลแก่ดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูป ชุด ชีวิตและครอบครัว พ22101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนของผู้เรียนที่ใช้บทเรียนสำเร็จรูป ชุด ชีวิตและครอบครัว พ22101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนที่ได้เรียนรู้โดยใฃ้บทเรียนสำเร็จรูป ชุด ชีวิตและครอบครัว พ22101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประชากรที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้เป็นผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนทุ่งใหญ่วิทยาคาร ปีการศึกษา 2559 จำนวน 1 ห้องเรียน ได้แก่ ห้อง ม.2/1 จำนวน 38 คน (ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่อทดลองหาประสิทธิภาพของบทเรียนสำเร็จรูป) และผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนร่มเกล้าปราจีนบุรี จำนวน 36 คน (ใช้เป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับแก้ปัญหา) รวมทั้งสิ้น 74 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ บทเรียนสำเร็จรูป ชุด ชีวิตและครอบครัว พ21101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 9 เล่ม แบบทดสอบ วัดสัมฤทธิ์ผลทางการเรียน จำนวน 50 ข้อ แบบทดสอบความพึงพอใจของนักเรียนจำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าสถิติ t-test ค่า E /E ค่าดัชนีความยาก ค่าอำนาจจำแนก ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) และค่าความเชื่อมั่น
ผลการทดลองพบว่า
1.บทเรียนสำเร็จรูป ชุด ชีวิตและครอบครัว กลุ่มสาระเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ E /E = 85.99/89.57
2. สัมฤทธิ์ผลทางการเรียน กลุ่มสาระเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังเรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูป แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.47 หมายความว่า นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูป ชุด ชีวิตและครอบครัว กลุ่มสาระเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า บทเรียน ชุด ชีวิตและครอบครัว กลุ่มสาระเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ผู้รายงานสร้างและพัฒนาขึ้นในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สามารถนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนได้