ชื่องานวิจัย การพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ โดยใช้แบบฝึกทักษะ
การอ่านจับใจความสำคัญ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางพิมพ์วิภา ไชยงาม
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียน โรงเรียนศิลาลาดวิทยา อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์
การอ่านจับใจความสำคัญ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนศิลาลาดวิทยา อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่
แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ จำนวน 9 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ จำนวน 9 แผน แบบทดสอบแบบวัดผลสัมฤทธิ์การอ่านจับใจความสำคัญ ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าความยากง่าย ตั้งแต่ .23 ถึง .79 มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .23 ถึง .69 และมีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเท่ากับ .73 และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนเป็นชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ .33 ถึง .60 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.06/86.08 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนด
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านจับใจความสำคัญ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
สูงกว่าก่อนใช้แบบฝึกทักษะอ่านจับใจความสำคัญ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อแบบฝึกทักษะการอ่าน
จับใจความสำคัญ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ มีประสิทธิภาพ ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านจับใจความสำคัญสูงขึ้นและมีความพึงพอใจต่อการใช้แบบฝึก ดังนั้นครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ประกอบการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนให้บรรลุผลและมีประสิทธิภาพได้