รายงานการศึกษา การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
ผู้ศึกษา นางสาวพรรณี กล่อมปัญญา ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สถานที่ศึกษา โรงเรียนพระธาตุขามแก่นพิทยาลัย ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้
คณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียน เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม โดยนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ร้อยละ 70 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพระธาตุ
ขามแก่นพิทยาลัย ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 23 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 15 แผนการจัดการเรียนรู้ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียน แบบบันทึกผลหลังการ
ใช้แผนการจัดการเรียนรู้ ใบงาน และแบบทดสอบท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม การศึกษาครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 วงจร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสรุปผลความเรียง
ผลการศึกษา พบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีขั้นตอนในการจัดกิจกรรม 5 ขั้น ดังนี้ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นการแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้โดยการให้นักเรียนหรือครูอ่านให้ฟัง และทบทวนความรู้เดิม โดยการเฉลยแบบฝึกทักษะ การเล่นเกมและการทบทวนเนื้อหาที่เป็นพื้นฐานของการเรียน 2) ขั้นสอน ประกอบด้วย (1) ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหา เป็นการเผชิญสถานการณ์ปัญหาและแก้ปัญหารายบุคคลจากสถานการณ์ที่ครูกำหนดให้ (2) ขั้นไตร่ตรองทางปัญญา โดยแบ่งกลุ่มนักเรียน กลุ่มละ 4-5 คน แต่ละคนนำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาของตนเองต่อกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มร่วมกันพิจารณาตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดเป็นวิธีการแก้ปัญหาของกลุ่ม และบันทึกลงในใบงาน (3) ขั้นเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาของกลุ่มย่อยต่อทั้งชั้น ตัวแทนกลุ่มนำเสนอแนวทาง
การแก้ปัญหาของกลุ่มต่อชั้นเรียน
3) ขั้นสรุป นักเรียนและครูร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการในเรื่องที่เรียน สมาชิกทุกคนอภิปรายและแสดงความคิดเห็นร่วมกันเพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหา 4) ขั้นฝึกทักษะ เป็นขั้นที่ให้นักเรียนฝึกทักษะจากแบบฝึกทักษะที่ครูสร้างขึ้น 5) ขั้นประเมิน เป็นขั้นประเมินความรู้ของนักเรียน จากการสังเกตการร่วมกิจกรรม การตรวจใบงาน และการตรวจแบบฝึกทักษะ
ผลสรุปที่ได้จากการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า นักเรียนได้ฝึกทักษะ
การคิดทักษะการทำงานกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถใช้ความรู้เดิมหรือประสบการณ์เดิมที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงในการแก้ปัญหาได้ มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันมีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
2. ผลการทดสอบท้ายวงจรที่ 1 คะแนนเฉลี่ยทั้งชั้น 21.04 คิดเป็นร้อยละ 70.14 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ 17 คน คิดเป็นร้อยละ 73.91 ผลการทดสอบท้ายวงจรที่ 2 คะแนนเฉลี่ยทั้งชั้น 22.09 คิดเป็นร้อยละ 73.62 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ 18 คน คิดเป็นร้อยละ 78.26 ผลการทดสอบท้ายวงจรที่ 3 คะแนนเฉลี่ยทั้งชั้น 23.35 คิดเป็นร้อยละ 77.83 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ 19 คน คิดเป็นร้อยละ 82.61 และผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คะแนนเฉลี่ยทั้งชั้น 23.04 คิดเป็นร้อยละ 78.26 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ 18 คน คิดเป็นร้อยละ 78.26