ชื่องานวิจัย : การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยใช้
ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๒
(วัดกะพังสุรินทร์) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
ผู้วิจัย : นางนันทพร สินไชย ตำแหน่ง ครูวิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีการศึกษา : 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการ ในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) ทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 4) เพื่อประเมินผล และศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดกระพังสุรินทร์) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) รูปแบบการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ประกอบด้วย แบบฝึกทักษะ การอ่านภาษาอังกฤษ และแผนการจัดการเรียนรู้ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่าน และ 3) แบบสอบถามความคิดของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบที (t-test) แบบไม่อิสระ
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนพบว่า รูปแบบการเรียนการสอน ประกอบด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 7 เล่ม และแผนการจัดการเรียนรู้มีรูปแบบการสอน KWL-Plus
2. ผลการพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ85.89 / 83.23 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนพบว่า หลังเรียนนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
4. ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนพบว่า ความคิดเห็นของนักเรียนมีต่อรูปแบบการเรียนการสอนอยู่ในระดับมากที่สุด