ชื่อเรื่อง การพัฒนาคุณภาพการบริหารงานวิชาการโรงเรียนตลาดไทรพิทยาคม
ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน
ผู้วิจัย จิติวัฒนา ศรีคราม
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารงานวิชาการโรงเรียนตลาดไทรพิทยาคมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ จำนวน 2 วงรอบ กลุ่มเป้าหมายการวิจัยมีจำนวนทั้งสิ้น 235 คน ประกอบด้วยครูโรงเรียนตลาดไทรพิทยาคม ปีการศึกษา 2558 จำนวน 24 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3 และชันมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ปีการศึกษา 2558 ชั้นละ 15 คน จำนวน 90 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่ายโดยวิธีจับฉลาก ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3 และชันมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ที่ได้รับการสุ่ม ปีการศึกษา 2558 ชั้นละ 15 คน จำนวน 90 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2558 จำนวน 15 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ผู้เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน โรงเรียนตลาดไทรพิทยาคม จำนวน 15 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกการประชุมและแบบบันทึกการนิเทศ ติดตามและประเมินผล แบบสังเกตการปฏิบัติงาน แบบสอบถามความคิดเห็น แบบสอบถามความพึงพอใจนักเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจผู้ปกครองนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการสังเกตการปฏิบัติงานของกลุ่มเป้าหมายการวิจัย ในวงรอบที่ 1 โดยรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.46 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.50 ในวงรอบที่ 2 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.66 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.47
2. ผลการสอบถามความคิดเห็น ผลการสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายการวิจัยและกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในวงรอบที่ 1 โดยรวมมีความคิดเห็นต่อการดำเนินงานในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.48 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.55 ในวงรอบที่ 2 โดยรวมกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยและกลุ่มผู้ให้ข้อมูล มีความคิดเห็นต่อการดำเนินงานในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.71 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.46
3. ผลการสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน สรุปผลได้ดังนี้ คือ โดยรวมนักเรียน
มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.66 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.50 4. ผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนสรุปผลได้ดังนี้ คือ โดยรวมผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.63 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.49