ชื่อผู้วิจัย นายประไพร สืบสำราญ
ตำแหน่งและสังกัด ครูชำนาญการ โรงเรียนเทศบาลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
ปีการศึกษาที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาและทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อศึกษาทักษะการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ในการแก้สถานการณ์ปัญหาของนักเรียนโดยให้มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 70 ขึ้นไป และ 3) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่อง เศษส่วน ให้มีผู้เรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาลบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 34 คน ใช้รูปแบบวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) จำนวน 3 วงจรปฏิบัติการ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นการวางแผน 2) ขั้นปฏิบัติ 3) ขั้นสังเกตการณ์ 4) ขั้นสะท้อนการปฏิบัติ
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 9 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกผลหลังการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์ผู้เรียนเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบย่อยท้ายวงจรปฏิบัติ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง เศษส่วน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนาพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ เรื่อง เศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นรูปแบบการสอนประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน 2) ขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย (1) ขั้นเผชิญปัญหาและแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล ตามขั้นตอนการแก้ปัญหาของ Polya มี 4 ขั้นตอนคือ ขั้นที่ 1 ทำความเข้าใจปัญหา ขั้นที่ 2 วางแผนหาคำตอบ ขั้นที่ 3 ดำเนินการตาม ขั้นที่ 4 มองย้อนกลับ (2) ขั้นระดมสมองระดับกลุ่มย่อย (3) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มใหญ่ 3) ขั้นสรุป 4) ขั้นฝึกทักษะ และ 5) ขั้นประเมินผล
2. นักเรียนมีคะแนนทักษะการแก้ปัญหาเฉลี่ยเท่ากับ 14.25 คิดเป็นร้อยละ 71.25 และมีคะแนนทักษะการคิดวิเคราะห์เฉลี่ยเท่ากับ 14.37 คิดเป็นร้อยละ 71.85
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง เศษส่วน มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 75.60 และมีจำนวนนักเรียนร้อยละ73.53 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป