คำสำคัญ: การประเมินโครงการ / โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ / เทศบาลเมืองชลบุรี
น้ำฝน กุลชุตินธร: การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนเทศบาล
ชลราษฎร์นุเคราะห์ สังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ( THE EVOLUTION OF HEALTH PROMOTING SCHOOL PROJECT UNDER CHONBURI MUNICIPALITY CHONBURI PROVINCE). ปี พ.ศ. 2560.
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์ สังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรีรวมถึงแนวทางการพัฒนาโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้การประเมินแบบซิปเปียสท์ (CIPPIEST Evaluation model) ของสตีฟเฟิลบีมและชิงค์ฟิลด์ (Stufflebeam and Shinkfield,
2007, p. 327) จำแนกตามบทบาทหน้าที่กลุ่มตัวอย่างได้แก่ บุคลากรในโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ผู้ปกครองและนักเรียน จำนวน 380 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามจำนวน 4 ชุด และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างจำนวน 1 ชุด
สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X-bar) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)
การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบแจกแจงทางเดียว (One-Way ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์ สังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์ สังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จำแนกตามบทบาทหน้าที่โดยรวมและรายด้านแตกต่างกัน
อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
3. แนวทางการพัฒนาโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์ สังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ได้แก่ ด้านสภาวะแวดล้อมพบว่า โรงเรียนควรจัดให้มีการประชุมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันสรุปผลการดำเนินงานแล้ววางแผนกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและแนวทางการพัฒนาต่อไป ด้านปัจจัยเบื้องต้นพบว่า โรงเรียนควรเพิ่มงบประมาณในการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ด้านกระบวนการพบว่า โรงเรียนควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพด้วยวิธีการที่หลากหลาย ด้านผลผลิตพบว่า โรงเรียนควรสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพให้แก่นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ด้านผลกระทบพบว่า โรงเรียนควรส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ
ให้มากยิ่งขึ้น ด้านประสิทธิผลพบว่า โรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม
ในการดูแลสุขภาพนักเรียน ด้านความยั่งยืนพบว่า โรงเรียนควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางด้านวิชาการแก่ผู้ปกครองและชุมชน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อพบว่า โรงเรียนควรส่งเสริม
ให้นักเรียนได้นำความรู้ด้านการดูแลสุขภาพที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่ผู้ปกครอง
จากการประเมินในแต่ละด้าน ทำให้สรุปภาพรวมผลการประเมินได้ว่า การดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสิมสุขภาพนี้ได้ผลในระดับมาก โครงการมีประโยชน์สำหรับนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน โรงเรียนจึงควรดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ต่อไป โดยอาศัยแนวทางในการพัฒนาโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้ดียิ่งขึ้น