บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
เรื่อง การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านบาโง สำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2
ผู้ประเมิน นางสาวปรียา สุนทรถิรพงศ์
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาโง
การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านบาโง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความสอดคล้องและความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมของผู้รับผิดชอบโครงการ ความพร้อมของอาคารสถานที่ ความเพียงพอของงบประมาณและความเหมาะสมของปัจจัยในการดำเนินงาน ประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินงานของนักเรียน การมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินงานของครู และการนิเทศติดตามโครงการ ประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา คุณลักษณะอันพึงประสงค์ผลกระทบทางสุขภาพด้านการมีสุขภาพที่ดีของนักเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ผลกระทบทางสุขภาพด้านการมีความสุขของนักเรียน และความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา ที่มีต่อโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและกรรมการสถานศึกษา จำนวน 401 คน ประกอบด้วย นักเรียน จำนวน 225 คน ครู จำนวน 14 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 155 คน กรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 7 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินโครงการสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลจากการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านบาโง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 โดยภาพรวมพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ผลผลิต บริบท ปัจจัยนำเข้า และกระบวนการ ผลการประเมินรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบท โดยภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ อยู่ในระดับมาก และความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ อยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมพบว่า อยู่ในระดับมาก และทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความพร้อมของอาคารสถานที่ อยู่ในระดับมาก ความพร้อมของผู้รับผิดชอบโครงการ อยู่ในระดับมาก ความเหมาะสมของปัจจัยที่ใช้ในการดำเนินงาน อยู่ในระดับมาก และความเพียงพอของงบประมาณที่ใช้ ได้รับเงินสนับสนุนเพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 100 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินกระบวนการ โดยภาพรวมพบว่า มีระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก
และทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์ การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การมีส่วนร่วมของครูเกี่ยวกับการวางแผนดำเนินงานโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ อยู่ในระดับมากที่สุด การนิเทศ ติดตามโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด และการมีส่วนร่วมของนักเรียนเกี่ยวกับการวางแผนดำเนินงานโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ อยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินผลผลิต โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็น
รายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 100 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและ พลศึกษา มีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 78.32 ผ่านเกณฑ์การประเมิน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ผลกระทบทางสุขภาพด้านการมีสุขภาพที่ดีของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 92 ผ่านเกณฑ์การประเมิน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ผลกระทบทางสุขภาพด้านการมีความสุขของนักเรียน มีค่าเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 92.17 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา โดยภาพรวมพบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัดย่อย พบว่า ทุกตัวชี้วัดย่อยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความพึงพอใจของนักเรียน ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา และความพึงพอใจของครู
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
การส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับนักเรียนเป็นหน้าที่ของสถานศึกษา จะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้นักเรียนมีสุขภาพที่ดีที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียน จากผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านบาโง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน โรงเรียนจึงควรดำเนินการโครงการนี้ต่อไป และผู้ที่เกี่ยวข้องควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ตามข้อเสนอแนะดังนี้
1. การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจะ
เป็นเข็มทิศชี้นำการปฏิบัติให้ไปสู่ความสำเร็จได้ดี จึงควรกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาให้มากขึ้นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ต่อเนื่องและยั่งยืน และควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษามีความตระหนักเห็นความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพนักเรียน และยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียน เป็นการตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาอย่างแท้จริง
2. ปัจจัยที่ใช้ในการดำเนินงาน เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้ไปสู่
ความสำเร็จ ควรสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ อาคารสถานที่ และเทคโนโลยี ที่ต้องใช้ในการดำเนินโครงการให้เหมาะสมกับการทำกิจกรรม และควรพัฒนาบุคลากรที่รับผิดชอบให้พร้อมก่อนที่จะปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และควรร่วมกันจัดเตรียมสถานที่ภายในอาคารให้พร้อมและเพียงพอ เพื่อให้การจัดกิจกรรมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเกิดประสิทธิผลสูงสุด
3. การปฏิบัติงานตามกิจกรรมของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ มีหลายกิจกรรมที่ต้อง
อาศัยผู้ปฏิบัติที่มีความรู้และทักษะเฉพาะด้าน เช่น การตรวจสุขภาพในช่องปากและฟัน การตรวจสุขภาพจิตของนักเรียน การทดสอบการมองเห็นและการได้ยินของนักเรียน การทดสอบสมรรถภาพนักเรียน จึงควรให้ผู้รับผิดชอบโครงการและครูที่มีความรู้ความสามารถ ปรับปรุงและพัฒนาเทคนิควิธีการปฏิบัติงาน และควรสนับสนุนให้มีการประสานการปฏิบัติงานระหว่างผู้รับผิดชอบโครงการ ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพดำเนินไปอย่างคล่องตัว ให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ผลผลิตของโครงการ คือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ จากผลการประเมิน
โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านบาโง ด้านผลผลิต พบว่า ความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเกิดผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดังนั้นควรขยายเครือข่ายการส่งเสริมสุขภาพสู่โรงเรียนใกล้เคียงและชุมชน เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีให้แก่สมาชิกในชุมชนและสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงปราศจากโรค