ผู้วิจัย นางนงครักษ์ ทันเพื่อน
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนเดื่อศรีไพรวัลย์ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัย 1) เพื่อสร้างรูปแบบการจัดกิจกรรม
การเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) หาประสิทธิภาพรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) เปรียบเทียบทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นและ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเดื่อศรีไพรวัลย์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีชื่อว่า EPATHC Model มีองค์ประกอบ คือ องค์ประกอบเชิงหลักการและวัตถุประสงค์ องค์ประกอบเชิงกระบวนการและองค์ประกอบเชิงเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มี 6 ขั้นตอน คือ
1) ขั้นกระตุ้นเตรียมความพร้อม (Encouragement : E) 2) ขั้นนำเสนอเนื้อหา (Presentation : P)
3) ขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (Activity : A) 4) ขั้นทดสอบย่อย (Test) 5) ขั้นตรวจและให้รางวัล(Honor) 6) ขั้นสรุปและการนำไปใช้(Conclusion and adoption) ผลการตรวจสอบความเหมาะสม/สอดคล้องเชิงโครงสร้างของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ พบว่า มีความเหมาะสม/สอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุดและประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (EPATHC Model) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 78.76/76.67 สูงกว่าเกณฑ์ 70/70 ที่ตั้งไว้
2. ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความพึงพอใจต่อการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด